เลือกตั้งและการเมือง
ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ยังค้างรัฐสภา หลังองค์ประชุมล่ม ก่อนลงมติ
โดย attayuth_b
7 ก.พ. 2566
25 views
ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯยังค้างรัฐสภา องค์ประชุมล่มก่อนลงมติ ด้านธนกรแจงไม่ใช่การแทรกแซงสื่อแต่เป็นการส่งเสริมจริยธรรม และกลไกการทำงานของสื่อ
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นพิเศษ ในช่วงที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นอย่างกว้างขวางโดยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว
จากนั้นนายธนากร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงและอภิปรายสรุปว่า ขอยืนยันจะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงกำกับดูแลสื่อเหมือนที่ทุกคนเข้าใจ แต่จะเป็นการส่งเสริมในเรื่องจริยธรรมและการมีกลไกในการทำงานของสื่อมวลชนที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารไปยังพี่น้องประชาชน โดยสื่อมวลชนตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องเป็นสื่อที่เป็นช่องทางในการนำเสนอข่าวสารไปยังประชาชน ไม่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อาทิผู้ทำเพจ Facebook Twitter ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องดีเพราะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีถึง 4 ครั้ง และจะเป็นดุลพินิจของสมาชิกฯ ที่จะรับหลักการหรือไม่ โดยรัฐบาลได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว โดยหากที่ประชุมรับหลักการก็สามารถแก้ไขในประเด็นต่าง ๆ ที่สมาชิกฯ มีความห่วงใยได้ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ส่วนประเด็นข้อกฎหมายที่สมาชิกฯ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเนื้อหาของกฎหมาย โดยสมาชิกฯ เข้าใจว่าในมาตรา 35 เหตุใดจึงอ้างเพียง วรรคแรกวรรคเดียวนั้น ความต้องการของร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงเหตุผลในการออกกฎหมาย ในมาตรา 35 ที่ระบุว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดง ความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งได้มีสมาชิกฯ อภิปรายถึงขอบเขตและความหมายของคำว่า “จริยธรรม” ว่าวัดจากตรงไหนหรือดูจากอะไร จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะต้องร่างกฎหมายฉบับนี้และตั้งชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะต้องการให้มีเนื้อหาในการอธิบายว่า จริยธรรมสื่อที่เขียนในมาตรา 35 มีขอบเขตเพียงใด จึงมีการกำหนดให้มีองค์กรหนึ่งซึ่งรัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ
ขณะที่นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ชี้แจงว่า ได้นำร่างกฎหมายที่ได้ศึกษามาทั้งหมด 33 มาตราแรก ไปรับฟังความคิดเห็นจาก พี่น้องประชาชนและผู้เกี่ยวข้องใน 4 ภูมิภาค คือ จังหวัดพิษณุโลก สงขลา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็น 627 คน จากนั้น ได้นำเผยแพร่บนเว็บไซต์ของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 มีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 108 คน และยังมีผลของผู้แสดงความคิดเห็นออนไลน์ มีประเด็นสำคัญที่เห็นด้วยและให้ข้อคิดเห็น ข้อสังเกตต่าง ๆซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ ได้นำข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเหล่านี้มาเข้าสู่กระบวนการศึกษา ไตร่ตรอง และได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม
จากนั้นที่ประชุมได้มีการเรียกนับองค์ประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ แต่ปรากฏว่าองค์ไม่ประชุมมีเพียง182คน ไม่ครบ องค์ประชุม ประธานฯ จึงสั่งปิดประชุม ในเวลา 17.44 นาฬิกา
แท็กที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ,ค้างรัฐสภา ,องค์ประชุมล่ม