เลือกตั้งและการเมือง

คลองหัวลำโพงเน่าหนัก! ค่าแบคทีเรียจากอุจจาระสูง มาตรฐานหลักพัน ตรวจได้หลักล้าน

โดย paweena_c

20 ก.ย. 2565

1.7K views

ชัชชาตินำร่อง พัฒนาคลองหัวลำโพง พบปนเปื้อนแบคทีเรียจากอุจจาระคนสูง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมเกินมาตรฐาน 100 เท่า


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่พัฒนาคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย ยกระดับเป็นคลองต้นแบบ แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในกรุงเทพมหานคร


ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ เผย พบกลุ่มแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม ที่มาจากระบบส้วมและอุจจาระในลำไส้ของมนุษย์ อยู่ในคลองหัวลำโพง สูงถึงหลักแสน MPN/100ml บางจุดถึงหลักล้าน MPN/100ml จากค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 4,000 MPN/100ml ขณะที่ค่าดัชนีคุณภาพน้ำ เสื่อมโทรมเกินค่ามาตรฐานมากกว่า 100 เท่าตัว


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ตามโครงการนำร่อง (Pilot Project) เนื่องในวันอนุรักษ์ และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ 20 กันยายน 2565 ที่บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย


โดยมีผู้อำนวยการเขตคลองเตย กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำลำคลองในครั้งนี้


นายชัชชาติ ระบุว่า เรื่องปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นเรื่องแรกๆที่ให้ความสำคัญ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ตนเองจึงอยากเลือกคลองที่เสื่อมโทรมมากๆ มาพัฒนาเป็นคลองต้นแบบ จึงตัดสินใจเลือกคลองหัวลำโพง เพราะคลองแห่งนี้ เป็นคลองที่อยู่ใจกลางเมือง รับน้ำมาจากตลาดคลองเตย และอยู่ใกล้สถานที่สำคัญ อย่างเช่นศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะมีการจัดประชุมเอเปคเร็วๆนี้


กทม.จึงต้องรีบเร่งพัฒนา ส่วนสาเหตุที่น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น เพราะตลอดแนวคลอง มีบ้านพักอาศัยของประชาชนอยู่ริมคลองจำนวนมาก และประชาชนทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ทั้งน้ำจากห้องส้วม การซักล้าง ทิ้ลงคลองร้อยเปอร์เซ็นต์ และต้นทางยังมีตลาดสดคลองเตยที่เป็นตลาดใหญ่ น้ำทั้งหมดของตลาด ทั้งการเชือดไก่ ล้างเขียงหมู ล้างสิ่งปฏิกูลต่างๆไหลลงคลองหมด


ทำให้ กทม.จึงได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว ได้ลงพื้นที่กันมานานแล้ว เชื่อว่าใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียไม่นาน


เพราะระยะทางสั้น ประมาณ 3 กิโลเมตร และไม่มีการสัญจรทางน้ำ เมื่อทำสำเร็จ ก็จะใช้คลองนี้ เป็นคลองนำร่องให้กับคลองอื่นๆ ใน กทม. และจะพัฒนาคลองอื่นๆตามมาด้วย เช่น คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว


สำหรับคลองหัวลำโพง รับน้ำมาจากท่อระบายน้ำของชุมชนไผ่สิงโต (ตรงข้ามตลาดคลองเตย) จากนั้นน้ำจากชุมชนจะไหลมาลงคลองหัวลำโพง ก่อนจะไหลไปที่สถานีสูบน้ำคลองเตย และสุดท้ายไหลไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำพระโขนง


ด้านสภาอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่า วางแผนไว้ 3 เฟส เริ่มแรกจะเริ่มจากหาข้อมูล เพื่อวางแผนงานจะทำอะไรก่อน-หลัง เช่น การทำระบบบำบัดน้ำเสีย และการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน ไม่ให้ทิ้งขยะลงน้ำ ส่วนเฟสที่ 2 จะปรับสร้างภูมิทัศน์ โดยคาดว่าใช้เวลา 10 เดือน จะสำเร็จ


และเฟสสุดท้าย ในระยะยาวก็จะขอความร่วมมือประชาชนให้รักษาคลองนี้ให้น้ำสะอาดอยู่ไปนานๆ และเชิญชวนเอกชนมาร่วมมือกันดูแลคลอและชุมชนบริเวณริมคลอง


หลังจากนั้น ได้ร่วมกันปลูกต้นอโศกอินเดีย จำนวน 70 ต้น เพื่อให้ร่มเงา เป็นต้นไม้กรองฝุ่น และส่งกลิ่นหอม แสดงถึงจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูพื้นที่ริมคลองก่อนในเบื้องต้น


ดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คุณภาพน้ำในคลองหัวลำโพง มีค่าเน่าเสียสูงมาก โดยเฉพาะค่าแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม หรือ FCB (Fecal coliform bacteria) สูงมาก (เป็นกลุ่มแบคทีเรีย ที่มาจากระบบส้วม ถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระในลำไส้ของมนุษย์ และสัตว์เลือดอุ่น แล้วคำานวณค่า FCB ในรูปของ MPN index ต่อน้ำ 100 มล.)


ค่ามาตรฐานทั่วไปต้องไม่เกิน 4,000 MPN/100ml แต่จากการตรวจสอบพบว่าค่า FCB สูงมาก บางจุดสูงถึงหลักแสน MPN/100ml บางจุดค่าสูงถึงหลักล้าน MPN/100ml


ส่วนค่า BOD หรือค่าความสกปรก ถ้าคลองปกติทั่วไปจะมีค่าค่าอยู่ที่ 1.5 – 2 มิลลิกรัม/ลิตร แต่คลองหัวลำโพงที่ตรวจสอบ พบค่าความสกปรก สูงกว่าหลัก 100 มิลลิกรัม/ลิตร ขึ้นไป


จะเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำในคลองเน่าเสีย ส่วนสาเหตุที่พบคือ คลองนี้นอกจากรับน้ำเสียจากชุมชนแล้ว ยังต้องรับน้ำเสียจากสุขุมวิทและถนนพระราม 4 ด้วย


ผู้ว่าฯชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเย็นวันนี้ จะเดินทางไปเข้าพบนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนาการ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เพื่อพูดคุยหารือ อย่างไม่เป็นทางการ ถึงการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา น้ำ ฝุ่นPM2.5 การแก้ไขปัญหาจราจร และความร่วมมือด้านอื่นๆ ในพื้นที่เชื่อมต่อข้ามจังหวัดของ กทม. และปทุมธานี


การไปเข้าพบครั้งนี้เหมือนการไปขอคำแนะนำ เพราะเป็นผู้ว่าฯปทุมธานี มีประสบการณ์ และอยู่มาหลายจังหวัด เช่น ตอนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สามารถแก้ปัญหาได้ดี วันนี้จะอยากเดินทางเข้าไปขอคำแนะนำ และเป็นการไปเยี่ยมอย่างไม่เป็นทางการ


คุณอาจสนใจ