สังคม

'ชัชชาติ' มอบโอวาทวันเด็กปี 67 - น่าห่วง สถิติเด็กหายปี 66 พุ่ง 296 คน สูงขึ้นในรอบ 5 ปี

โดย nattachat_c

12 ม.ค. 2567

72 views

วานนี้ (11 ม.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบโอวาท และคำขวัญวันเด็ก ให้แก่เด็กนักเรียนตามโครงการ 'เด็กดีศรี กทม.' เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567


โดยมี

  • นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร  
  • นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร
  • คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมกว่า 1,000 คน
  • ร่วมพิธี ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบคำขวัญวันเด็กประจำปีนี้ว่า "เปลี่ยนนิสัยเดิม ... เริ่มนิสัยใหม่ ... ชีวิตออกแบบได้ สู่เป้าหมายที่เป็นของเรา" ซึ่งช่องว่างที่เว้นไว้นั้น เพื่อให้เด็กมีการออกแบบคำขวัญได้เอง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการวางเป้าหมาย โดยใช้ความตั้งใจเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และในปีหน้า จะมาติดตามดูเป้าหมายของเด็ก ๆ ว่า เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เด็กทุกคนนั้นถือว่าเป็นบุคคลสำคัญ เป็นอนาคตของกรุงเทพมหานคร และอนาคตของชาติ กรุงเทพมหานครจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กอย่างมาก


เนื่องในโอกาสวันเด็กปีนี้ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิต มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นเด็กดีของพ่อแม่ และเป็นพลเมืองที่ดีของกรุงเทพมหานครตลอดไป


สำหรับภายในงานได้มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีการแสดงความสามารถของเด็ก ๆ ทั้งร้อง เต้น เล่นดนตรี ตลอดจนการโต้วาที และมีการแจกอาหาร ขนม ให้เด็ก ๆ กิจกรรมนันทนาการ นิทรรศการความรู้


รวมทั้ง มีการเปิดให้เด็ก ๆ เข้าเยี่ยมชมห้องทำงาน และนั่งเก้าอี้ทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประธานสภากรุงเทพมหานคร ณ อาคารธานีนพรัตน์ และอาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง


โดยเด็ก ๆ ที่เข้าเยี่ยมชมห้องประธานสภากรุงเทพมหานคร จะได้รับโอวาทจากประธานสภากรุงเทพมหานครด้วย

-------------

ภายหลังพิธีมอบโอวาท ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศงานวันเด็กที่จัดขึ้นวานนี้ ว่า 


บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน เรามีตัวแทนนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครโรงเรียนละ 2 คน และมีผู้บริหารทุกภาคส่วนมาร่วมงาน เด็ก ๆ ที่มามีความสามารถ มีความสร้างสรรค์ จะเห็นได้จากการโต้วาทีว่า เด็ก ๆ เก่งมาก


สำหรับคำขวัญวันเด็กที่มอบให้ในปีนี้ เนื่องจากเชื่อว่านิสัยที่ดีจะทำให้เรามีอนาคตตามที่ต้องการได้ และหัวใจของนิสัยจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก จึงได้เน้นในเรื่องนิสัย แต่ไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นอะไร อยากให้เขาได้ฝึกคิดเองด้วย เพราะทุกคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน


ด้านของขวัญวันเด็ก ปีที่แล้วมีการให้ห้องคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนไปแล้ว ปีนี้จะมีการทำห้องเรียนดิจิทัล และนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้น


ส่วนเรื่องของฝุ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครทำห้องปลอดฝุ่นแล้วในทุกโรงเรียน เรื่องเด็กต้องไม่หยุด เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ทุกวันต้องเป็นของขวัญให้เด็ก ต้องปรับปรุงสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด


ในส่วนของการดูแลอาหารเด็ก คิดว่าแต่ละหน่วยงานมีการดูแลตามมาตรฐานอยู่แล้ว โดยอาหารในโรงเรียน แต่ละโรงเรียนก็มีการดูแลเป็นอย่างดีในทุกวัน อย่างไรก็ตาม อาหารที่แจกในงานวันเด็ก ก็ต้องมีการดูแลให้เข้มข้นมากขึ้นด้วย


"เด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานคร เพราะเขาจะเป็นคนที่นำเมืองนี้ต่อไปในอนาคต จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็ก หัวใจคือเราต้องทำให้เด็กสามารถแสดงออกในความเป็นตัวตนของเขา ให้เขาสามารถคิดเองได้ เพื่อให้เขาเป็นพลเมืองที่พร้อม และมีความสุข" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

-------------
วานนี้ (11 ม.ค. 67) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) ถนนผ่านฟ้า กรุงเทพฯ


พ.ต.ท.มโรดม์ ขวัญเมือง รอง ผกก.ดส.บช.น. พร้อมด้วย นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกันแถลงสถิติเด็กหาย ประจำปี 2566


พร้อมเชิญ นางตุ๊กตา แม่ของน้องการ์ตูน วัย 6 ขวบ ที่ถูกนายหนุ่ย หรือติ๊งต่าง ฆาตกรต่อเนื่อง 3 ศพ ลักพาตัวไปฆ่าข่มขืนบริเวณป่ารกร้าง ติดสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง บางนา เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 6 ธ.ค. 56 ซึ่งเป็นการมาเปิดใจครั้งแรกในรอบ 10 ปี

-------------

นายเอกลักษณ์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า


สถิติการรับแจ้งเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2566 มีทั้งหมด 296 ราย เป็นสถิติเด็กหายเพิ่มเติมสูงขึ้นในรอบ 5 ปี โดยสูงกว่าปี 2565 ถึง 17%


โดยสาเหตุหลักที่เด็กหาย มีดังนี้


อันดับที่ 1 : เด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน 172 ราย (กว่า 58%)


อันดับที่ 2 : เด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช 56 ราย (กว่า 19%)


อันดับที่ 3 : ถูกลักพาตัว 5 ราย 


ช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน


อันดับที่ 1 : อายุ 11-15 ปี รวม 138 ราย


อันดับที่ 2 : อายุ 16-18 ปี รวม 96 ราย


อันดับที่ 3 : แรกเกิด - สิบขวบ รวม 62 ราย

-------------

ทั้งนี้ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว


ทำให้เด็กไปให้ความไว้วางใจเพื่อน หรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์ มากกว่าคนในครอบครัว จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้โดยง่าย


โดยจากข้อมูล เด็กยอมไปกับคนที่เพิ่งรู้จั กหรือพูดคุยกันผ่านแอปพลิเคชั่น อย่าง Facebook // Instagram // TikTok หรือแอปพลิเคชั่นหาคู่ แม้ว่าเด็กจะสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง แต่โลกภายนอกบ้าน มีอันตรายหลายอย่างสำหรับเด็ก ทั้งการคุกคาม หรือหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก หรือมีความเสี่ยงในการถูกล่อลวง  หรือกระทำความรุนแรง โดยปีที่ผ่านมา มีเด็กวัยรุ่นหายออกจากบ้าน ต่อมาภายหลังพบว่าถูกฆาตกรรม

-------------

พ.ต.ท.มโรดม์ รอง ผกก.ดส. กล่าวว่า ปัญหาเด็กหายเป็นปัญหาสำคัญของสังคม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก


โดยในประเทศไทย แม้ว่าเด็กหายส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านก็ตาม แต่ท้ายสุดแล้ว เมื่อมีการแจ้งความเด็กหายมายังตำรวจ เราจะถือว่าทุกกรณีมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะการที่เด็กก้าวเท้าออกจากบ้าน ย่อมเกิดอันตรายได้รอบด้าน ทั้งสวัสดิภาพ และความปลอดภัย อาจเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก การมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมในด้านอื่น ตลอดจนอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์


ตามที่มูลนิธิกระจกเงาได้รายงานสถานการณ์เด็กหายเมื่อปีที่ผ่านมา มีกรณีที่เด็กถูกลักพาตัวไปเป็นเครื่องมือในการขอทาน โดยกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส) กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับการประสานงานจากมูลนิธิกระจกเงา ได้ให้การช่วยเหลือเด็กชายแบงค์ อายุ  8 ขวบ ถูกลักพาตัวไป ขณะไปรับแจกข้าวสารที่โรงเจ โดยผู้ก่อเหตุมีพฤติการณ์ชักชวนเด็กไปกินขนม และเที่ยวเล่น จนเด็กเกิดความไว้วางใจ และพาเด็กไปเร่ขอทานในสถานที่สาธารณะ ซึ่งตัวผู้ก่อเหตุถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ เพราะเคยมีคดีพรากเด็กในหลายท้องที่


จึงขอฝากย้ำเตือนไปยังผู้ปกครองในการเฝ้าระวังเด็กโดยเฉพาะช่วงอายุ 4-10 ขวบ จะมีความเสี่ยงสูงสุดในการถูกลักพาตัว ปัจจัยเสี่ยงสูงสุด คือ การที่ผู้ปกครองปล่อยเด็กวิ่งเล่นตามลำพัง แม้ว่าบริเวณที่เด็กวิ่งเล่น จะคุ้นเคยอยู่มาตั้งแต่เด็ก ผู้ก่อเหตุจะใช้โอกาสนี้เข้ามาตีสนิทพูดคุยตอนเด็กอยู่ตามลำพัง นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุบางราย เช่น กรณีน้องจีโอ ยังไปหลอกเด็กตามร้านเกม ให้เงินเด็กในการเล่นเกม เพื่อหลอกล่อให้เด็กตายใจ


ทั้งนี้ พ.ต.ท.มโรดม์ ฝากเตือนประชาชนในวันเด็กแห่งชาตินี้ ว่า


ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ปกครอง เพื่อป้องกันเด็กสูญหายพลัดหลงในงานวันเด็ก


1. ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า


2. ให้ถ่ายรูปล่าสุด พร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน


3. ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้


4. สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ


5. สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย


ทั้งนี้ หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรแจ้ง 191 หรือแจ้งความเด็กหายได้ทันที โดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.

-------------


คุณอาจสนใจ

Related News