เลือกตั้งและการเมือง

อ.จุฬาฯ ชี้ ดราม่าสีปากกา กกต. สร้างภาระประชาชนมากเกินกว่าเหตุ

โดย attayuth_b

22 พ.ค. 2565

34 views

อ.นิติฯ จุฬา ถาม  กำหนดใช้สีปากก มีกฎหมายอะไรรองรับ ซัด กกต. มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่ใช่การสร้างอุปสรรคกระทบสิทธิประชาชน  ชี้สร้างภาระให้ประชาชนเกินกว่าเหตุ

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ  ได้โพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์ กรณีดราม่าเรื่องการใช้สีปากกาในการเลือกตั้ง โดยมองว่าหน้าที่ กกต. คืออำนวยความสะดวกไม่ใช่้การสร้างเงื่อนไขอันเป็นอุปสรรคกระทบกับสิทธิของประชาชน  โดยระบุว่า

ว่าด้วยดราม่าสีหมึกปากกา

ผมติดตามข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม และพบว่าเกิดกรณีความสับสนโต้แย้งกันเกี่ยวกับ "สีหมึกของปากกา" สำหรับประชาชนที่เตรียมปากกามาจากบ้านเพื่อไปใช้สิทธิลงคะแนน

ทั้งนี้ท่าน ปธ. กกต ได้ให้ความเห็นไว้ว่า หากผู้ต้องการนำปากกามายังเขตเองเพื่อใช้สิทธิ "ให้นำปากกาหมึกสีน้ำเงิน" มาลงคะแนนเท่านั้น ถ้านำสีอื่นมาถือว่าเป็น "บัตรเสีย" ด้วยความเคารพ ผมเห็นว่าน่าจะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับหลักการ รัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ

1. ตามหลักการทางรัฐธรรมนูญ สิทธิเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนของประชาชนที่จะแสดงเจตจำนงว่า "มีความประสงค์ที่จะเลือกบุคคลใดเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเอง" ดังนั้น หลักการสำคัญของการใช้สิทธิเลือกตั้งคือ "การบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ลงคะแนนมุ่งหมายที่จะลงคะแนนให้ใครเป็นสำคัญ" จึงย่อมเข้าใจได้ว่า การลงคะแนนที่ไม่อาจระบุได้ว่าผู้ใช้สิทธิต้องการเลือกใครจึงถือเป็นบัตรเสีย ดังนั้น รายละเอียดจึงมีการบัญญัติ "ลักษณะของบัตรเสียไว้" ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ เช่น บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนบ้าง บัตรที่ไม่ทราบว่าลงคะแนนให้กับผู้สมัครท่านใด ฯลฯ นี่คือ "เหตุผลทางรัฐธรรมนูญในการลงคะแนน" (Constitutional reason of voting) ของสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น การกำหนดว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องนำเอาปากกาหมึกสีน้ำเงินมากาในบัตรเลือกตั้งจึงย่อมไม่ใช่เงื่อนไขที่สอดคล้องกับหลักการทางรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่าจะด้วย "ปากกาหมึกสีใด" ก็ย่อมสามารถบ่งชี้ หรือระบุได้ว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งประสงค์จะลงคะแนนให้บุคคลใดทั้งสิ้น

2. อย่างไรก็ดี มีคำถามที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า กรณีที่ท่าน ปธ. กกต ตั้งเงื่อนไขว่า ต้องนำเอาเฉพาะปากกาหมึกสีน้ำเงินมาลงคะแนนเท่านั้น มีฐานกฎหมายรองรับหรือไม่อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีตัวบทกฎหมาย หรือระเบียบใดๆ ที่กำหนดเงื่อนไขไว้หรือไม่ว่า ต้องใช้ปากกาหมึกสีน้ำเงินเท่านั้นจึงจะใช้สิทธิลงคะแนนได้ หากตอบว่ามีตัวบทกฎหมายและระเบียบรองรับ คำถามต่อไปคือ มีการประกาศ หรือแจ้งต่อประชาชนให้ทราบล่วงหน้าแล้วอย่างชัดเจนและทั่วถึงหรือไม่อย่างไร

3. แม้จะมีการปฏิบัติแล้วอย่างครบถ้วนตามข้อ 2. จริง ผมก็ยังเห็นว่า การกำหนดเงื่อนให้ประชาชนต้องนำ "เฉพาะปากกาหมึกสีน้ำเงิน" มาเท่านั้นจึงจะลงคะแนนได้ มิฉะนั้น จะเป็นบัตรเสีย ถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) อย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ละเมิดต่อสิทธิเลือกตั้งในลักษณะที่เป็นการ "สร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ" (Undue burden) อันเป็นการขัดต่อหลักความได้สัดส่วน (Proportionality) อยู่ดี เพราะคงเป็นการแปลกประหลาดมาก (สมมติ) หากปรากฏว่าที่บ้านของประชาชนที่พยายามป้องกันการติด หรือแพร่เชื้อโควิดไม่มีปากกาหมึกสีน้ำเงินเลย นั่นหมายความว่า เขาเองก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะหากนำไปใช้ลงคะแนนจะกลายเป็นบัตรเสียไป นี่เป็นการสมเหตุสมผลแล้วหรือ? ซึ่งในสายตาของระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญมองว่าไม่สมเหตุสมผล

อย่าลืมนะครับว่า กกต มีหน้าที่สำคัญคือ การจัดการเลือกตั้งและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง ดังนั้น การสร้างเงื่อนไขหรืออุปสรรคใดๆ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญอย่างเรื่อง "สีหมึกปากกา" อันเป็นการกระทบต่อ "สิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมือง" ของประชาชน ย่อมกระทำมิได้ครับ

คุณอาจสนใจ

Related News