เลือกตั้งและการเมือง

สถาบันปรีดีพนมยงศ์ ร่วม มธ. จัดกิจกรรมรำลึก 78 ปี 'วันสันติภาพไทย'

โดย panwilai_c

16 ส.ค. 2566

111 views

สถาบันปรีดีพนมยงศ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมรำลึก 78 ปี วันสันติภาพไทย รำลึกถึงวีรชนเสรีไทย และร่วมเสนอแนวทางสันติภาพในเมียนมา ในฐานะไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียน ที่ควรมีบทบาทสำคัญ ซึ่งมีข้อเสนอต่ออาเซียน ยกระดับมาตรการเข้มข้นต่อเมียนมา และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ของไทย ต้องมีนโยบายเร่งด่วนต่อเมียนมาทั้งการเปิดประตูมนุษยธรรมและการกำหนดพื้นที่สันติภาพ



กิจกรรมรำลึกวีรชนเสรีไทยในโอกาสครบรอบ 78 ปี จัดขึ้นบริเวณประติมากรรม ธรรมศาสตร์กับขบวนการเสรีไทย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันปรีดี พนมยงศ์ ร่วมจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันประกาศสันติภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาม พ.ศ.2488 นายปรีดี พนมยงศ์ หัวหน้าบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพ ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ จึงถือเป็นหนึ่งในวันประวิติศาสตร์ ที่ทำให้ไทยไม่กลายเป็นประเทศที่แม้สงคราม



รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงศ์ กล่าวว่าหากให้รำลึกถึงวันสันติภาพไทย อย่างที่ นายปรีดี พนมยงศ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือโมฆะสงครามว่าให้นึกถึงอกเขาอกเรา ปัญหาในเมียนมาแม้จะเป็นกิจการภายในและอาเซียนมีหลักการไม่แทรกแซง แต่สามารถพัวพันอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยเฉพาะไทยสามารถแสดงบทบาท เช่นเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน สนับสนุนการทำงานของสหประชาชาติ หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุติการโจมตีทางอากาศ โดยรัฐบาลใหม่ต้องกวดขัดตามแนวชายแดนยุติการส่งมอบอาวุธต่อกองทัพเมียนมา สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านมนุษยธรรม



นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เห็นว่ามาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ หรือแม้กระทั่งฝ่ายค้าน ต้องใช้ทุกกลไกผลักดันให้มีการเปิดประตูมนุษยธรรม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องมีแผนรับมือผู้ลี้ภัยเมียนมากว่า 3 แสนคนที่อาจทะลักมายังไทย ต้องปรับกระบวนทัศน์ทางการทูตทั้งระดับทวิภาคและพหุภาคี ยกระดับการสร้างสันติภาพในเมียนมา เช่นการกำหนดพื้นที่หยุดยิงตามแนวชายแดนเป็นเซฟตี้โซน



รศ.ดร.ดุลยภาค แสดงให้เห็นฉากทัศน์กระบวนการสันติภาพที่เมียนมา ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาเคยมีความก้าวหน้าหลังการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศหรือ NCA ในปี 2015 แต่หลังการรัฐประหาร 2021 รัฐบาลทหารเมียนมาแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ต้องการสันติภาพที่แท้จริง แต่ต้องการจัดระเบียบรัฐ เมื่อความขัดแย้งไม่ได้มีแค่ทหารเมียนมากับกองกำลังชาติพันธุ์ แต่มีประชาชนพม่าในนามรัฐบาล NUG และกองกำลัง PDF กำลังปฏิบัติการสงครามปฏิวัติ นำไปสู่เป้าหมายทางการเมืองในรูปแบบสหพันธรัฐ ซึ่งไทยสามารถใช้กระบวนการเริ่มต้นจากการกำหนดพื้นที่สันติภาพตามแนวชายแดนได้



เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ย้ำว่าต้องมองการสร้างสันติภาพในเมียนมาให้เป็นเรื่องของทุกคน และแม้จะคาดหวังบทบาทของอาเซียนได้ยาก แต่อาเซียนยังเป็นกลไกสำคัญที่ต้องแสดงบทบาทที่เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่



เช่นเดียวกับนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย ที่มองว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมามีเพียงเรื่องเดียวที่ไปถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แต่ผลกระทบจากการรัฐประหารยังไม่มีกลไกได้ไปจัดการได้ จึงเรียกร้องไปยังอาเซียนมีมาตรการ ขู่ ที่อาจจะยังไม่ใช่การขับ เมียนมา ออกจากสมาชิกอาเซียน เพื่อไม่ให้เป็นเพียง เสือกระดาษ

คุณอาจสนใจ

Related News