เลือกตั้งและการเมือง

เปิดพิรุธรายได้ 'ไอทีวี' ไตรมาส 1/2566 ระบุจาก 'โฆษณา' ขัดแย้งคลิปประชุม

โดย panwilai_c

14 มิ.ย. 2566

1.2K views

ผ่านมา 3 วัน หลังจากข่าว 3 มิติ เปิดหลักฐานคลิปบันทึกการประชุมสามัญประจำปี 2566 ผู้ถือหุ้น บริษัทไอทีวี มีข้อมูลไม่ตรงกับเอกสารบันทึกประชุม ในประเด็นว่าไอทีวียังคงประกอบกิจการสื่อหรือไม่ ยังไม่มีการชี้แจงมาจากบริษัทไอทีวี



ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน พบข้อสังเกตเกี่ยวกับงบการเงินไตรมาส ที่ 1 ของปี 2566 หลายจุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และแหล่งข่าวผู้ถือหุ้นของข่าว 3 มิติ ก็ต้องการให้บริษัทไอทีวีชี้แจงในประเด็นนี้เพื่อความโปร่งใส เพราะเป็นหลักฐานสำคัญที่ กกต.จะใช้พิจารณาคดีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วย โดยข่าว 3 มิติ ได้รับรายงานด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชี ลาออกไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่ยังไม่ทราบเหตุผล



จากเอกสารแบบนำส่งงบการเงิน ส.บช.3 ของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เป็นงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับอนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566



และเอกสารการแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า บริษัทไอทีวี มีประเภทธุรกิจเป็นสื่อโทรทัศน์ สินค้าและบริการ สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน



ประกอบกับเอกสาร งบแสดงฐานะการเงิน วันที่ 31 มีนาคม 2566 ของบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบ และเป็นร่างสำหรับการใช้งานภายใน หรือ Draft for internal use ระบุว่า มีรายได้ เป็นผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ กว่า 6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร กว่า 2 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนการบริหาร 150,000 บาท และมีกำไรจากการกิจกรรมดำเนินงาน กว่า 3 ล้านบาท



และในข้อที่ 10 เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และในวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566



จากเอกสารที่ปรากฏมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญการเงินระบุว่า งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 แตกต่างจากงบการเงินในปี 2565 ที่ไม่มีการระบุว่า เป็นสื่อโฆษณา มีเพียงระบุรายได้ที่มาจากการลงทุน ซึ่งตรงกับงบการเงินของบริษัทไอทีวีนับจากถูกยกเลิกสัปทานเมื่อปี 2550 ถึงปี 2565 เป็นเวลา 15 ปี ก็ไม่มีรายได้จากสื่อโฆษณา การดำเนินกิจการสื่อที่บริษัทไอทีวีระบุว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ผู้บริหารบริษัทไอทีวี ตอบว่า ยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่ในวันที่ 28 เมษายน 2566 เพียง 2 วันหลังการประชุม กลับมีรายงานในงบการเงินว่าให้บริการลงสื่อโฆษณา และวันนำส่งบัญชี ตรงกับวันที่ มีการยื่นร้องคดีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์



สอดคล้องกับข้อสังเกตของแหล่งข่าวผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีที่ให้ข้อมูลกับข่าว 3 มิติอยากให้ผู้บริหารไอทีวีชี้แจงงบการเงินที่ปรากฏด้วยว่า เหตุใดเวลาห่างเพียง 2 วันหลังการประชุมผู้ถือหุ้น กลับมีรายงานการจ้างลงสื่อโฆษณา จะต้องมีเอกสารระบุได้ว่าการโฆษณาแบบใด ว่าจ้างกันอย่างไร



ประกอบกับการตรวจสอบที่ตั้งบริษัทไอทีวี ก็ใช้สำนักงานเดียวกับบริษัทอินทัช ที่แม้จะเป็นบริษัทแม่ แต่มีพนักงานดำเนินการหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบมีกรรมการบริษัท 5 คน และในจำนวนนั้น 4 คน ก็อยู่ในบริษัทอินทัชด้วย



ซึ่งนอกจากผู้บริหารบริษัทไอทีวีต้องชี้แจงแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ กกต.จะต้องนำไปตรวจสอบด้วยว่า การดำเนินกิจการสื่อของบริษัทไอทีวี มีการว่าจ้างเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่นับรวมกับการชี้แจงกรณีคลิปวีดีโอคำตอบจากผู้บริหารในวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกับเอกสาร ที่ผ่านมา 3 วันแล้ว ยังไม่มีการชี้แจงมาจากบริษัทไอทีวี ซึ่งตรงกับข้อสังเกตุข้อผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินด้วย



นอกจากนี้จากการตรวจสอบเอกสารที่นายเรืองไกร ได้ใช้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ตรวจสอบหุ้นไอทีวี ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ก็จะพบลำดับเวลาของการยื่นเอกสารที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงจากก่อนวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ยังระบุว่า เคยเป็นธุรกิจโทรทัศน์ แต่ถูกบอกเลิกสัญญา และอยู่ระหว่างข้อพิพาท โดยในเอกสารของนายเรืองไกร ระบุวันที่ 6 พฤษภาคม บริษัทไอทีวี ยังคงดำเนินกิจการอยู่



ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ระบุด้วยว่า มีความแตกต่างระหว่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของบริษัทอินทัช ที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทไอทีวี ไม่มีการระบุว่าได้ใช้สื่อโฆษณาของบริษัทไอทีวี จึงต้องตรวจสอบว่างบการเงินที่ปรากฏในไตรมาสแรกของบริษัทไอทีวี มีการว่าจ้างมาจากที่ใด



สำหรับข้อเท็จจริงเรื่องงบการเงิน จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญต่อการพิสูจน์ว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินกิจการสื่อหรือไม่ ซึ่งจะกลายเป็นฐานความผิดในการถือหุ้นบริษัทไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่แม้จะมีหลักฐานการโอนหุ้นไปเมื่อวันที่ 25 พฤกษภาคม 2566 แต่นายพิธา ยืนยันว่า เป็นการโอนให้ทายาท



และที่ผ่านมาไม่พบว่าบริษัทไอทีวีมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจสื่อ นอกจากรายได้จากการลงทุน และจากการถูกบอกเลิกสัญญาสถานทีโทรทัศน์ไอทีวี ก็มีการคืนคลื่นความถี่ไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 หากบริษัทไอทีวีชนะคดีศาลปกครองสูงสุด การจะกลับมาดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์จะต้องขออนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ และการดำเนินธรุกิจอื่นในระหว่างมีข้อพิพาททำได้หรือไม่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองด้วย



เริ่ม มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีได้ลาออกไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ โดยไม่ทราบสาเหตุ ข่าว 3 มิติพยายามติดต่อเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ประกอบกับมีการพบข้อพิรุธทางการเงิน ที่เป็นข้อสงสัยมาจากแหล่งข่าวผู้ถือหุ้นที่ต้องการให้ผู้บริหารไอทีวีชี้แจง รวมถึงกรณีคลิปบันทึกการประชุมที่ไม่ตรงกัน ก็ยังไม่มีการชี้แจงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คาดหวังว่าจะมีคำตอบ

คุณอาจสนใจ

Related News