เลือกตั้งและการเมือง

ย้อนมหากาพย์คดีหุ้นไอทีวี 'พิธา' หลังศาลรธน.วินิจฉัย ไม่ใช่สื่อ

โดย chiwatthanai_t

24 ม.ค. 2567

56 views

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "พิธา" ไม่พ้นสมาชิกภาพ สส.เนื่องจากไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว


วันที่ 24 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 13.56 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ และเริ่มอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ กกต. ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นไอทีวี ว่าจะทำให้พ้นจากสมาชิกภาพ สส.หรือไม่ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยทั้งหมดประมาณ 40 นาที โดยไล่ไปทีละประเด็น ซึ่งก็ต้องบอกว่าในประเด็นการวินิจฉัยแรกๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนก็อาจจะคิดว่านายพิธาไม่น่าจะรอด


ประเด็นแรก เรื่องการถือหุ้นไอทีวี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ชี้ว่า นายพิธา ถือหุ้นไอทีวีอยู่จริงในวันที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ที่นายพิธา มีชื่ออยู่ลำดับที่ 1 ในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล


ประเด็นที่สอง เรื่องการครอบงำกิจการของบริษัทไอทีวี ซึ่งประเด็นนี้นายพิธา ต่อสู้ว่า การถือหุ้นดังกล่าวไม่ได้มีอำนาจเข้าไปครอบงำกิจการของบริษัทไอทีวี เนื่องจากถือหุ้นเพียง 42,000 หุ้น จาก 1,200 ล้านกว่าหุ้น คิดเป็น 0.00348% เท่านั้น

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อ เพราะไม่ต้องการให้เป็นช่องทางในการใช้สื่อเพื่อแสวงประโยชน์ โดยไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีกี่หุ้น ดังนั้นแม้จะถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็ถือว่าถือหุ้น และเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ


ประเด็นที่สาม ในวันสมัคร สส. นายพิธา เป็นเจ้าของหุ้นเองหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่าเป็นการถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ไม่ใช่หุ้นของตัวเอง


จากการพิจารณาเอกสารข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ศาลรัฐธรรมนูญ ลงความเห็นว่า นายพิธา เป็นเจ้าของหุ้นด้วย โดยแม้นายพิธา จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการมรดก แต่ในอีกด้าน นายพิธา ก็เป็นทายาทที่มีสิทธิ์ในมรดกทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมถึงหุ้นไอทีวีด้วย และศาลฯ ยังระบุด้วยว่า การที่นายพิธา อ้างว่า ที่ไม่สามารถโอนหุ้นได้ก่อนหน้านี้ เพราะหุ้นไอทีวีถูกสั่งให้ยุติการซื้อขาย ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ความจริง สามารถดำเนินการโอนได้


แม้ว่าใน 3 ประเด็นแรก ดูเหมือนข้อโต้แย้งของนายพิธา จะฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ข้อพิจารณาประเด็นที่ 4 ว่า บริษัทไอทีวียังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ ก็ทำให้คดีพลิกเป็นอีกด้าน


กรณีนี้ทาง กกต.อ้างตามวัตถุประสงค์การประกอบกิจการของบริษัทไอทีวี และเห็นว่าบริษัทไอทีวียังประกอบกิจการสื่ออยู่ ขณะที่ นายพิธา ต่อสู้ว่า บริษัทไอทีวีถูกยกเลิกสัญญาในการประกอบการกิจการสื่อตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 และยกความเห็นของนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2566 ที่ยืนยันว่าปัจจุบันไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ และไม่ได้มีรายได้จากการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อ


ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การพิจารณาว่าประกอบกิจการสื่อหรือไม่ ไม่สามารถพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ควบคู่ไปด้วย


ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่า ไอทีวี ได้ยุติกิจการ และอยู่ระหว่างข้อพิพาทคดีกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หลังเคยมีสัญญาร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นระยะเวลา 30 ปี แต่ 7 มีนาคม 2550 สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี บอกเลิกสัญญา และบริษัทไอทีวี ก็ได้แจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคมแล้วว่า ได้หยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่ 8 มีนาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน


รวมถึงเมื่อตรวจสอบงบการเงิน รวมถึงเอกสารเงินได้ของบริษัทไอทีวีฯ ที่เคยดำเนินดำเนินกิจการสื่อโทรทัศน์ โฆษณา ก็พบงบการเงิน และรายได้จากธุรกิจสื่อมวลชนของบริษัทไอทีวีฯ เป็น 0 บาท และมีรายได้จากดอกเบี้ยรายรับ


นอกจากนั้น ยังพบปรากฏข้อเท็จจริง ตั้งแต่ปี 2560-2565 ที่บริษัทไอทีวี ยุติการดำเนินกิจการตั้งแต่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ทำให้คลื่นสัญญาณ กลับมาเป็นของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และศาลฯยังได้ระบุถึงคำพูดของนายคิมห์ ที่ระบุว่า ไม่ยืนยันว่าบริษัทจะประกอบกิจการสื่อหรือไม่ หากชนะคดี ก็จะต้องตัดสินใจอีกที และสุดท้ายแม้ไอทีวีจะชนะคดี ก็ไม่ได้มีผลให้บริษัทไอทีวีฯ ได้รับมอบคลื่นความถี่คืน


ข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงสรุปได้ว่า บริษัทไอทีวี ไม่มีสิทธิ์ในการประกอบกิจการสื่อมวลชน ตั้งแต่ 7 มีนาคม 2550 และไอทีวี ยังคงสถานะนิติบุคคลไว้ เพื่อดำเนินคดีในศาลเท่านั้น และยังไม่ปรากฏรายได้จากสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากการลงทุน และดอกเบี้ยรับเท่านั้น


ดังนั้น เมื่อวันที่นายพิธา ลงสมัครรับเลือกตั้ง บริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ การถือหุ้นของนายพิธา จึงไม่มีลักษณะต้องห้าม และสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ


ทั้งนี้ จากเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลฯมีมติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชี รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. นายพิธา ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)


แต่ข้อเท็จจริงในทางสอบสวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)


โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 1 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ) ที่เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3)


ทั้งนี้ ก่อนอ่านคำวินิจฉัย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการแจ้ง 2 เรื่อง ให้คู่กรณีทราบว่า

1. คดีนี้ นายพิธา ผู้ถูกร้องได้มีการขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหา 2 ครั้งด้วยกัน รวมเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งศาลอนุญาต คดีนี้ควรจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ก่อน 60 วันที่แล้ว จึงขอทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าศาลล่าช้า

2. เรื่องที่มีการไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีในสื่อต่างๆ ถือว่าเป็นการไม่สมควรและไม่เหมาะสม เพราะการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เกี่ยวกับคดีก่อนศาลวินิจฉัย อาจเป็นการชี้นำ กดดันศาล จึงขอเตือนว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม


https://youtu.be/ZotLkj04HvQ

คุณอาจสนใจ

Related News