เลือกตั้งและการเมือง

ก้าวไกล-เพื่อไทย นัดถกเคลียร์ปมชิงตำแหน่งประธานสภา

โดย panwilai_c

27 พ.ค. 2566

68 views

ปมการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ของแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่า อาจจะกลายเป็นปมขัดแย้งก่อนการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาแกนนำของทั้ง 2 พรรคได้ออกมา แสดงเหตุผล และความจำเป็นที่ต้องได้ตำแหน่งประธานสภาไว้ในโควต้าของพรรคไป จนเมื่อวานนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาโพสเฟชบุ๊คให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนนำมาซึ่งการนัดหมายการหารือกันในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ โดยเลือกใช้สถานที่คือที่ทำการพรรคประชาชาติ



นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรก้าวไกล เปิดเผย ถึงความคืบหน้าในการเจรจาผู้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในพรรคร่วมจัดจั้งรัฐบาล ว่าจะมีการหารือกันในวันอังคารที่ 30 พฤษภาคมนี้ เวลา 14.30 น. ที่ทำการพรรคประชาชาติ เชื่อว่าจะมีเวลาสำหรับการหารือกันเป็นการภายใน ตามที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ย้ำไว้ว่าขอให้พรรคร่วมไปหารือกันในวงเจรจาวงเล็ก



โดยเลขาธิการพรรคก้าวไกลเห็นว่าหลังจากนี้จะต้องมีวาระที่จะต้องทำก่อน หลังจากที่มีการลงนาม MOU แล้ว ว่าแต่ละวาระจะมีการเตรียมตัว สำหรับการทำงานล่วงหน้าอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบตรงไหน สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นทางการ



ซึ่งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจะมีการหารือกันหลังจากนี้ โดยยอมรับว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกลจะมีการทาบทามคนนอกเข้ามารับตำแหน่งฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นปกติในทุกรัฐบาล ที่จะเชิญคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการบริหาร โดยไม่ได้มีปัจจัยเรื่องของอายุเพียงอย่างเดียว



นอกจากนี้ ยังบอกว่า ตอนนี้ภายในพรรคก้าวไกลยังไม่ได้คุยกันว่าใครจะดำรงตำแหน่งอะไร และก็เชื่อว่าในพรรคการเมืองอื่นอีก 7 พรรคก็จะยังไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าอาจจะเร็วเกินไป



ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวมาจากแกนนำอีกคนหนึ่งในฝั่งของพรรคเพื่อไทย โดยวันนี้ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภาฯ กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลก่อนหน้านี้ และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีสามารถใช้ดุลยพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมาย ยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และการอ้างว่าเป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภาฯ จะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ ก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเสียทีเดียว เพราะในประวัติศาสตร์มีหลายครั้งที่ประธานสภาฯ ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด



นอกจากนี้ นายสุชาติ ยังกล่าวถึง กรณีที่มีผู้สนับสนุนว่า จะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ในสภาฯ ชุดนี้ด้วยว่า ขึ้นอยู่กับพรรคที่จะเสนอชื่อใคร และก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ ด้วยว่า จะลงมติเลือกหรือไม่ แต่สาระสำคัญไม่ใช่อยู่ใครได้เป็นประธานสภาฯ เพราะความสำคัญอยู่ที่การที่สภาฯ ได้เริ่มทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาได้เมื่อใดมากกว่า นายสุชาติ ยังฝากถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เร่งพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้สภาฯ เดินหน้าการทำงานได้โดยเร็ว

คุณอาจสนใจ

Related News