เลือกตั้งและการเมือง
'พิธา' แถลงสู้คดียุบพรรค ชี้ กกต.ส่ง 'ก้าวไกล' ขึ้นทางด่วนไปศาล จะใช้ระเบียบ 2 มาตรฐานไม่ได้
โดย passamon_a
30 มิ.ย. 2567
122 views
พิธา แถลงคำชี้แจงศาล รธน. คดียุบพรรค จวก กกต. ส่งก้าวไกลขึ้นทางด่วนไปศาล จะบังคับใช้ระเบียบ 2 มาตรฐานไม่ได้ ยกเคสประชาธิปัตย์ ก็เคยถูกยกมาแล้ว โอดเป็นโอกาสที่สูญเสียไป มองยังไกลไป คิดถึงฟ้องกลับ
วันที่ 30 มิ.ย.67 เวลา 10.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงคดียุบพรรค ซึ่งเป็นคำแถลงต่อเนื่องจากครั้งก่อนหน้า โดยใช้เวลากว่า 20 นาที
นายพิธา ออกตัวว่าจะเน้นไปที่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แล้วเริ่มต้นด้วยการทบทวน 9 ข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ว่าเราแบ่งเป็นสัดส่วนคือ เขตอำนาจและกระบวนการ, ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ พร้อมย้ำว่ากระบวนการในชั้นของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต. กำลังทำให้การยุบพรรคมี 2 มาตรฐาน บางพรรคใช้มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และบางพรรคใช้มาตรา 93 ถ้าเราดูอย่างเห็นได้ชัดมาตรา 92 และ93 ไม่สามารถใช้แยกกันได้
"บางพรรคที่ กกต. อยากจะส่งขึ้นทางด่วนก็ใช้มาตรา 92 พอ มาตรา 93 ไม่ต้องใช้ ถ้าปล่อยให้ใช้แยกกัน หมายความว่าพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน ส่วนพรรคอื่นไปทางธรรมดา เรายังยืนยันว่าไม่สามารถตีความมาตรา 92 และ 93 อย่างที่ กกต. ตีความได้ เราไม่สามารถให้การยุบพรรคมี 2 ช่องทางให้ กกต. ใช้ด้วยอำเภอใจ" นายพิธา กล่าว
นายพิธา ย้ำว่า ถ้าดูในแง่ของกฎหมายและเจตนารมย์ตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการถ่วงดุล ต้องเปิดโอกาสให้พรรคที่โดนร้องต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริงและหลักฐานทางกฎหมายด้วยเช่นกัน
นายพิธา กล่าวว่า ระเบียบ กกต. ที่ออกมาเมื่อปี 2566 ทำให้การบังคับใช้ไม่เหมือนกันกับพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน
อีกประเด็นเป็นเรื่องของคำวินิจฉัย 3/67 ซึ่งเป็นคดีสั่งห้ามไม่ให้หาเสียง ไม่ผูกพันต่อการวินิจฉัยคดีนี้ จะเห็นได้ชัดว่าเป็นคนละข้อหา นอกจากนี้ความหนักของโทษก็ยังแตกต่างกัน
นายพิธา ยังโชว์ไทม์ไลน์คดียุบพรรคก้าวไกล พร้อมกล่าวว่า ล่าสุดวันที่ 19 มิ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญสำหรับใช้ในการนัดพิจารณาครั้งถัดไปคือวันที่ 3 ก.ค.67 และการนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 9 ก.ค.67
ซึ่ง 2 คำถามที่พรรคก้าวไกลได้รับมาคือ 1. พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่ และ 2. การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่
โดยคำถามข้อที่ 1 คำตอบคือ ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้งในกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้อง เพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้ว ด้วยเหตุว่านายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำความเห็นส่งไปยัง กกต. ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคที่น้อยกว่ากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ศาลก็ยกคำร้อง
"ความผิดเพียงเล็กน้อยศาลยังยกคำร้อง ดังนั้นในกรณีของพรรคก้าวไกลที่ กกต.ข้ามขั้นตอน ปิดโอกาสในการชี้แจงซึ่งเป็นความผิดพลาดที่มากกว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นว่าควรยกคำร้อง" นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า ส่วนในคำถามที่ 2 พรรคก้าวไกลตอบไปว่า พรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์ เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ เพียงอย่างเดียว
นายพิธา ย้ำว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ในเมื่อเป็นคนละข้อหาและเป็นประเด็นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน แต่ในเมื่อ กกต. ปิดประตูใส่ พรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสได้ไปชี้แจง ไม่มีช่องทางในการท้วงติง และในเมื่อเป็นประเด็นใหม่และขอบเขตใหม่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่เท่านั้น
"ถ้าเกิดมันมีสองมาตรฐานแบบนี้ได้ ถ้า กกต. อยากยุบพรรคไหนเป็นพิเศษก็ส่งขึ้นทางด่วน ใช้ 92 อย่างเดียว พรรคไหนไม่อยากยุบเร็ว อยากประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดา ใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย คุณเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย รวมถึงไม่สามารถบอกว่าคดีนั้นจบก็ถือว่าเอาคดีนั้นมาผูกพันกับคดีนี้ ถือเป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ซึ่งเป็นเรื่องดุลยพินิจล้วน ๆ เรื่องที่โทษรุนแรงขนาดนี้ไม่สามารถที่จะใช้ดุลพินิจโดยไม่มีการถ่วงดุลได้" นายพิธา กล่าว
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม โดยผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกล ไม่ได้กระทำตามข้อกล่าวหา จะมีการฟ้องร้องกลับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ ว่า ตนคิดว่ายังคงไกลไปเยอะที่จะคิดเรื่องนั้น อยากจะขอย้ำและขอยืนยันว่าคำร้องของ กกต.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนร่วม ไม่มีการถ่วงดุล และผิดขั้นตอนของทาง กกต.เอง ตนคิดว่าไม่ควรที่จะให้ตีความแบบ กกต.ได้ การแยกมาตรา 92 กับ 93 นั้นทำให้เกิดสองมาตรฐาน บางพรรคถ้ากรณีที่ใช้ดุลยพินิจแล้วเกิดแยกขึ้นมา ตนยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหา กกต.โดยตรง แต่ถ้า กกต. อยากจะยุบพรรคไหนเป็นพิเศษก็ส่งขึ้นทางด่วนใช้มาตรา 92 อย่างเดียว ถ้าพรรคไหนไม่อยากยุบเร็วอยากจะประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดาใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย ตนมองว่า กกต.จะเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย
"ไม่สามารถจะบอกว่าคดีนั้นจบ ถือว่าเอาคดีนั้นมาผูกพันกับคดีนี้ ถือว่าเป็นหลักฐานนั้นเชื่อได้ว่าอันดุลพินิจล้วน ๆ และเรื่องที่กฎหมายรุนแรงขนาดนี้ไม่สามารถที่จะใช้ดุลยพินิจโดยที่ไม่มีการทวงดุลได้ ต้องโฟกัสที่ตรงนี้ก่อน" นายพิธา กล่าว
เมื่อถามว่า กระบวนการชี้แจงอาจจะย้อนกลับไม่ได้แล้ว พรรคก้าวไกลประเมินฉากทัศน์หลังจากนี้อย่างไร นายพิธา ระบุว่า ก็มีหลายฉากทัศน์ ฉากทัศน์หนึ่งที่วันนี้เรานำเสนอโดยการเทียบเคียงคดี 15/53 ของพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฉากทัศน์ที่ศาลได้ยกคำร้องในคดีนั้น เพราะว่านายทะเบียนพรรคไม่ได้เสนอความเห็นก่อนถือว่าทำข้ามตามขั้นตอน ก็มีการยกคำร้องนั้นและก็ไม่ได้พิจารณาเรื่องอื่นอีก
หรืออีกฉากทัศน์หนึ่ง คือเดินหน้าต่อแล้วให้มีการไต่สวน แต่ตนคิดว่าถ้าดูตามการเทียบคดีของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 53 กับของเราก็จะเห็นว่ามันยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นที่ต้องยกคำร้อง เพราะในคดีนั้นของ กกต. ถ้าดูด้วยข้อกฎหมาย ตนมองว่าเป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ตนเป็นผู้เสียโอกาสในการชี้แจงในกระบวนการสำคัญที่ กกต.ร่างขึ้นมาเอง ซึ่งตนพูดในเรื่องของกระบวนการไม่ใช่ในแง่ของผลลัพธ์
เมื่อถามว่ามองเรื่องของการรับลูกของศาล มองเป็นการฟอกขาวให้ กกต.หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตนไม่อาจก้าวล่วงไปที่ทางศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่สามารถก้าวล่วงไปในมุมของ กกต.ได้ ในขณะเดียวกันตนก็ทราบว่าศาลถามอะไรไปที่ กกต. และทราบคำตอบด้วย แต่ตนตั้งใจที่จะแถลงข่าวอย่างตรงไปตรงมาและยึดที่ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายของฝั่งตนเอง ไม่อาจไปก้าวล่วงไปที่ผู้ร้อง เน้นที่ฝั่งของตัวเองที่ถูกกระทบหรือถูกกระทำ ไม่ได้ต้องการที่จะไปก้าวล่วงในขอบเขตของคนอื่น
นายพิธา กล่าวว่า เมื่อเทียบกับคดีที่มีการร้อง ป.ป.ช. เรื่องของจริยธรรมที่มี สส.ก้าวไกล 44 คน เข้าชื่อแก้ 112 ตนเชื่อมั่นพอ ๆ กัน ยังเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจตนาของพวกเรา ที่มีเจตนาดีกับระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดที่ผ่านมาที่มีคำอธิบายได้ เราประกันตัวเพราะเป็นสิทธิที่เป็นหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่เรามีผู้ต้องหามาตรา 112 เป็นสมาชิกพรรคหรือเป็น สส.พรรค ก็ต้องให้โอกาสเขาในการที่จะพิสูจน์ เพราะคดีก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด
รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/Pgkc74bQhNk
แท็กที่เกี่ยวข้อง พิธาลิ้มเจริญรัตน์ ,ยุบพรรคก้าวไกล ,กกต.