ข่าวโซเชียล

"อ.ธรณ์" เชียร์ลุยงานวันจันทร์ "ปะการังยังสู้ แล้วเราจะยอมแพ้ได้ไง" พร้อมอธิบายแผนงานลุยช่วยทะเลต่อ

โดย kanyapak_w

24 มิ.ย. 2567

82 views

(24 มิ.ย.) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุข้อความว่า "ตื่นแต่เช้ามาเชียร์ปะการังให้สู้ๆ เธออยู่ในน้ำตื้นน้ำขุ่นน้ำร้อน แต่คุณปะการังไม่ยอมแพ้ สร้างชั้นสีเรืองแสงเพื่อพยายามลดแดดให้มากที่สุด ถึงตอนนี้น้ำเริ่มเย็นฝนเริ่มมาฟ้าเริ่มปิด การสู้ตายของเธอได้ผล เชื่อว่าเธอคงรอดได้ฮะ


ปะการังยังสู้ แล้วเราจะยอมแพ้ได้ไง ส่งกำลังใจให้เพื่อนธรณ์ลุยงานในเช้าวันจันทร์ฉันอยากนอน อย่ายอมแพ้ปะการังนะครับ

สู้ๆ

หมายเหตุ - ต้นเขียวๆ บนหัวปะการังคือสาหร่ายหินปูน พวกนี้ไม่ฟอกขาว จึงทำตัวเป็นเชียร์ลีดเดอร์ช่วยให้กำลังใจคุณปะการังมาตลอดหน้าร้อนที่ผ่านมาครับ"


ต่อมา อ.ธรณ์ยังโพสต์อีกว่า  "ข้อดีของการทำงานต่อเนื่องหลายปีในพื้นที่เดียว ทำให้เราปรับแผนได้ง่าย และมีส่วนสำคัญมากในการปลูกหญ้าทะเลให้รอด


เริ่มจากภาพทางอากาศ 3 ภาพ ถ่ายช่วงเดียวกันของทุกปี ทำให้ผมทราบว่าจุดแดงหญ้าน้อยลงเยอะ จุดเขียวยังโอเค

การทดลองปลูกหญ้าทะเลจึงเลือกจุดเขียว ช่วยให้หญ้าทะเลที่พยายามทดลองปลูกต่อเนื่องมา 2 ปี ถึงตอนนี้มีอยู่ 76 ต้น

ข้อมูลวิจัยบอกว่า หญ้าทะเลที่ปลูกในธรรมชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่องอกเพิ่มเป็น 2 ต้น

ใช้อีกอย่างน้อย 3 ปี เพื่องอกเป็น 4 ต้น

แต่นั่นคืองานในอดีต มิใช่ยุคโลกร้อนทะเลเดือด หญ้าธรรมชาติยังสู้แทบไม่ไหว

จึงเน้นย้ำว่าเราต้องใจเย็นๆ ทำงานให้ต่อเนื่องในพื้นที่ มีข้อมูลให้ครบ

บทเรียนจากเกาะแตนสามารถนำไปใช้กับที่อื่นๆ ในทะเลไทย เราควรเร่งสำรวจทางอากาศเพื่อทำแผนที่พื้นฐานของแหล่งหญ้าทะเล

หากต้องการฟื้นฟูแหล่งหญ้าที่ไหน เราสามารถถ่ายภาพใหม่เพื่อนำมาเทียบกับภาพเดิมในช่วงก่อน เพื่อเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม

แต่ถ้าเราไม่มีแผนที่ทางอากาศของแหล่งหญ้าในอดีต ย่อมต้องใช้เวลารอเป็นปี ซึ่งโครงการฟื้นฟูทั่วไปคงรอไม่ได้

จะใช้ภาพดาวเทียมย้อนเวลาก็อาจจะยาก เพราะบางแห่งไม่อัปเดท และรายละเอียดไม่พอ

การทำงานในยุคโลกร้อนทะเลเดือด จึงต้องใช้เวลาและเทคโนโลยี ตลอดจนการจัดลำดับความสำคัญแบบไทม์ไลน์

จะพยายามต่อไปครับ

?

โครงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเกาะแตน เป็นงานร่วมกันระหว่างคณะประมงและปตท.สผ. ocean for life เริ่มมาตั้งแต่พ.ศ.2564 จนถึงปัจจุบัน ขอบคุณครับ"



แท็กที่เกี่ยวข้อง  ปะการังฟอกขาว ,อ.ธรณ์ ,ทะเล

คุณอาจสนใจ

Related News