เลือกตั้งและการเมือง

ไม่ได้สกัด 'ด้อมส้ม' สว.เล็ง แก้กม.หาเสียงผ่านโซเชียล 'เสรี' แฉบางพรรคปั่นกระแสนิยม

โดย chawalwit_m

9 เม.ย. 2567

1.1K views

สว. เล็ง แก้ กม.คุมหาเสียงผ่านโซเชียล 'เสรี' แฉบางพรรคใช้ขบวนการหุ่นยนต์ ปั่นกระแสนิยม ชี้ใช้เงินมากกว่าติดป้ายหาเสียง แจงไม่ได้สกัด “ด้อมส้ม” ย้ำต้องตื่นตัว  ปรับลุคกกต.ดิจิทัล รู้เท่าทันเทคโนโลยี


วันนี้ 9 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานการพัฒนาพรรคการเมืองและการสร้างพลเมืองในยุคดิจิทัล : ปัญหาและแนวทางแก้ไข เสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน


โดยรายงานสรุปว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้ศึกษาสรุปปัญหาและอุปสรรคในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการพัฒนาการเมืองและการสร้างพลเมืองในยุคดิจิทัล 5 ประเด็น 1. ความเป็นเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ที่อยู่ในต่างประเทศ ทำให้ประสานงานไม่ได้ 2. ความรู้ความเข้าใจของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน ขาดความชำนาญและความเท่าทัน 3. สมรรถนะและความพร้อมของพรรคการเมืองไทย พรรคการเมืองที่มีความพร้อมได้เปรียบการเข้าถึงประชาชน 4. ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก หรือ กกต. มีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายที่ได้อ้างอิงถึง ซึ่งบุคลากรจะต้องมีการพัฒนา และ 5. ความไม่ทันสมัยของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับมีข้อเสนอให้ กกต. ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เท่าทันกับการเลือกตั้งและหาเสียงยุคใหม่


นอกจากนี้นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการ ได้อภิปรายตอนหนึ่งว่าสื่อบางรายมองว่ารายงานฉบับนี้ต้องการสกัดดอมส้ม แต่ความจริงแล้วรายงานฉบับนี้ใช้กับทุกพรรคการเมือง โดยเราได้รวบรวมข้อมูลจากแต่ละพรรค บางพรรค ใช้ข้อมูลจากสื่อต่างๆโดยเฉพาะสื่อดิจิตอลเช่น Facebook Instagram หรือ TikTok และใช้ประโยชน์จากสื่อเหล่านี้สร้างคะแนนเสียง โดยขบวนการหุ่นยนต์หรือขบวนการทางเทคโนโลยีที่ไม่เป็นความจริงได้คะแนนนิยมมากมาย จากวิธีจ้างคนมากดข้อมูล กดเชียร์ กดไลท์ ให้เหมือนกับคะแนนเสียงเป็นที่นิยม พอประชาชนเห็นโดยรวมก็รู้สึกว่าพรรคนี้เป็นที่นิยม ก็ช่วยกันสนับสนุน พรรคนี้มีผู้นำหล่อ พูดจาดี มีประเด็นดี ก็ใช้ระบบเหล่านี้เผยแพร่ ขณะเดียวกันก็เอาข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ใช้วิธีการเดียวกันเผยแพร่ออกไป



ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องตื่นตัว เป็น กกต. ที่ทันสมัย เป็น กกต.ดิจิทัลรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ต้องสร้างกระบวนการเพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผ่านมา กกต. มีกฎหมายที่ควบคุมการใช้เงิน การติดป้ายหาเสียง แต่ระบบโซเชียลไม่มีการควบคุม ทั้งที่คนที่ใช้โซเชียลใช้เงินมากกว่าการติดป้ายหาเสียง เมื่อไม่ควบคุมจึงทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ขณะที่แต่ละพรรคการเมมืองต้องตื่นตัว และนำคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกพรรคมีคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งที่อ้างว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่เท่านั้น ดังนั้นต้องมีวิธีการ กกต.ต้องควบคุมและจัดการเพื่อไม่ให้เลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม



“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำให้เกิดการพัฒนาการเลือกตั้ง และมีการเลือกที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่ไม่มีใครรู้จัก แต่ใช้ไอโอ ไอโอ ทำให้เป็นคนเก่ง คนดี ทั้งที่คนที่ทำคุณงามความดียาวนานไม่ได้รับเลือกตั้ง ผมขอฝากให้พิจารณาด้วยว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำร้ายสังคม ทำลายบ้านเมือง สร้างเหตุการณ์ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงาม ฝากไปยังรัฐบาล กระทรวงดีอีด้วยให้ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลผ่านดิจิทัลที่บิดเบือน จาบจ้วงสถาบันที่มีจำนวนมาก” นายเสรี กล่าว



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของสว. ต่างแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และมีการชี้เฉพาะไปยังการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เอไอ และ ไอโอเพื่อประโยชน์ในการเอาชนะเลือกตั้ง



ด้านนายอนุพร อรุณรัตน์ สว. อภิปรายสนับสนุนรายงาน พร้อมระบุว่าจากการติดตามการเลือกตั้งต่างประเทศและประเทศไทยเชื่อว่ามีการใช้ไอโอ และเอไอในการเลือกตั้ง ที่เกิดขึ้น โดยใช้เป็นฐานวางแผนหาเสียง ซื้อเสียง กลั่นแกล้งคู่แข่ง และจะปรากฎอย่างมากในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งกระบวนการตัดต่อภาพ คลิปและเสียง และทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัคร สว. ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม รวมถึงผู้มีสิทธิลงคะแนน รวมถึงเชื่อว่าจะใช้ไอโอ คาดการณ์เพื่อซื้อเสียง ครอบงำ เพื่อหวังเอาชนะเลือกตั้ง กระจายเงิน สอดส่องความเคลื่อนไหวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งตนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยต่อไป นอกจากนั้นยังประเด็นการใช้บัญชีปลอมเพื่อปั่นกระแส บิดเบือน การรับรู้ของประชาชนด้วย



“เลือกตั้งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะมี การเลือกของ สว. เชื่อว่าจะมีการสร้างข่าวลวง เพื่อทำลายคู่แข่ง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ควรพิจารณารายงานของกรรมาธิการเพื่อประโยชน์ในการเลือกกันเองของสว.ที่จะเกิดขึ้น” นายอนุพร อภิปราย



ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สว. อภิปรายว่าในการเลือกสว.ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะใช้รูปแบบของการเลือกกันเองและเลือกไขว้ ต้องมีมาตรการในการป้องกันที่จะเกิดขึ้น เช่น การโทรศัพท์ขอคะแนน รวมถึงการใช้ไอโอ ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นได้เห็นแล้ว ดังนั้นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คุณอาจสนใจ

Related News