สังคม

อดีตพนักงานการท่าเรือฯ ขอพึ่งพระบารมีถวายฎีกา หลังถูกกล่าวหาทุจริตเบิกโอที 3,000 ล้าน

โดย chutikan_o

3 เม.ย. 2567

248 views

อดีตพนักงานการท่าเรือฯ ขอพึ่งพระบารมีถวายฎีกา หลังถูกกล่าวหาเป็นคดีพิเศษทุจริตเบิกเงินค่าล่วงเวลา 3,000 ล้านบาท

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่ สน.พระราชวัง นายกฤษฎา อินทามระ ฉายาทนายปราบโกงพาตัวแทนอดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย 5 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและอาจติดคุกในคดีพิเศษที่ 4/2557 ซึ่งการท่าเรือเป็นผู้ก่อขึ้นตั้งแต่ปี 2557-2567 ไปยื่นถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานความเป็นธรรมอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีพิเศษดังกล่าว โดยก่อนหน้าเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ผู้เดือดร้อนกว่าร้อยคนได้พากันไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งกำกับดูแลการท่าเรือ ต่อมาต้นเดือนมีนาคม 2567 ได้พากันไปเร่งรัดแต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวและไปเข้าข้างการท่าเรือฯ ทั้งที่การท่าเรือฯ ได้มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อแสดงเจตจำนงขอยุติคดีพิเศษแล้ว ทำให้ผู้เดือดร้อนกว่าร้อยคนต้องสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรมจึงต้องมาขอพึ่งพระบารมีเป็นที่พึ่งสุดท้าย

ทั้งนี้ หลังจากที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ตรวจสอบประวัติผู้ถวายฎีกาแล้วจึงพากันเดินทางไปที่สำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อยื่นเอกสารการถวายฎีกาต่อไป

นายกฤษฎา กล่าวว่า เหตุที่ต้องถวายฎีกาเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม, กระทรวงยุติธรรม, การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

สืบเนื่องจากเมื่อประมาณ ปี 2556 การท่าเรือฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร้องเรียนต่อดีเอสไอ ให้ตรวจสอบการทุจริตกรณีเบิกจ่ายค่าล่วงเวลาของพนักงานการท่าเรือฯ และกลุ่มผู้ทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา โดยกล่าวหาว่าทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา และเรียกร้องค่าล่วงเวลาเพิ่มเติมรวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 3,000-3,500 ล้านบาท อธิบดีดีเอสไอในขณะนั้นอนุมัติให้ดำเนินการสืบสวนและสรุปสำนวนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) พิจารณา ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค. 2556 ที่ประชุมมีมติรับเป็นคดีพิเศษ ต่อมาวันที่ 18 ส.ค. 2560 ดีเอสไอส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับไปให้ดีเอสไอดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา และในคดีพิเศษการท่าเรือฯ ก็มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยปรากฎหลักฐานเป็นคำสั่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยเรื่อง ลงโทษพนักงานข้อเท็จจริงยุติว่า มีพนักงานรวม 8 คน ถูกไล่ออกเพราะเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้ลางาน เมื่อกลับมาจากต่างประเทศก็บังอาจเบิกเงินค่าล่วงเวลาออกไปถือว่าเป็นความผิดชัดเจน แต่ผู้บริหารการท่าเรือฯ กลับลงโทษพนักงาน 8 คนสถานเบาคือไล่ออก ทั้งที่ขณะเกิดเหตุรับเป็นคดีพิเศษแล้ว แต่ผู้บริหารการท่าเรือฯ ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบช่วยให้ผู้กระทำผิดทั้ง 8 คน ไม่ต้องได้รับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลง จึงแจ้งความดำเนินคดีกับ 8 คนที่ สน.ท่าเรือ ในข้อหาเพียงเล็กน้อย คดีจึงถึงที่สุดโดยศาลรอการลงโทษทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องติดคุกในคดีพิเศษ และในการสอบสวนที่ดีเอสไอ ก็ยังเรียกพนักงานที่ถูกไล่ออกมาให้การปรักปรำใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ ถือว่าการท่าเรือฯและดีเอสไอร่วมมือกันสนับสนุนกันกลั่นแกล้งใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ แต่ในทางกลับกันการท่าเรือฯ และดีเอสไอ ก็ปกป้องผู้กระทำผิดทั้ง 8 คน

ต่อมา วันที่ 29 มี.ค. 2566 ดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องได้เพียง 34 คนจากทั้งหมด 560 คนและได้ส่งตัวทั้ง 34 คนไปดำเนินคดีที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษแล้ว แต่เวลาผ่านไป 12 เดือนผู้ต้องหาทั้ง 34 คนก็ยังไม่ถูกฟ้องเป็นคดีที่ศาลใดเลย

ต่อมาในวันที่ 19 ต.ค. 2566 และวันที่ 8 มี.ค. 2567 พนักงานที่ถูกกล่าวหาจึงไปขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการท่าเรือฯ สั่งการให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเพราะตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา

การกระทำของการท่าเรือฯ ได้สร้างความเสียหายกับผู้บริสุทธิ์อย่างมาก เพราะการท่าเรือฯ และดีเอสไอ ร่วมกันประโคมข่าวผ่านสื่อมวลชนทำให้คนดีกลายเป็นคนคดโกง ส่งผลให้คนดีต้องอยู่ในสังคมด้วยความยากลำบาก ไปหางานทำที่ไหนก็ไม่ได้เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นคนโกง แต่เมื่อไปร้องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ เลย จึงต้องขอพึ่งพระบารมีเป็นที่พึ่งสุดท้าย


คุณอาจสนใจ