เลือกตั้งและการเมือง

'ตะวัน' ขอเลื่อนสอบปากคำ 'ขวางขบวนเสด็จ' อ้างติดเรียน - 'บิ๊กโจ๊ก' รับคำสั่งนายกฯ จัดการกลุ่มป่วน

โดย nattachat_c

13 ก.พ. 2567

18 views

บิ๊กโจ๊ก เตรียมพิจารณาใช้มาตรา 116 กับกลุ่มพยายามคุกคามสถาบัน ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยอมรับกับพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้ ขณะที่ตะวันพร้อมพวกยื่นหนังสือ ขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาคดีขวางขบวนเสด็จ อ้างติดเรียนมาพบตามนัดเมื่อวานนี้ไม่ได้ ล่าสุด 3 สน. ปทุมวัน นางเลิ้ง สำราญราษฎร์ ยื่นอัยการขอศาลเพิกถอนการประกันตัวแล้ว


วานนี้ (12 ก.พ. 67) ช่วงค่ำ มีรายงานว่า 3 สน.ประกอบด้วย สน.ปทุมวัน นางเลิ้ง และ สำราญราษฎร์ ได้เสนออัยการไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีบุกรุก, ขัดขวางเจ้าพนักงาน ภายหลังแสดงออกกับขบวนเสด็จฯ บนทางด่วน ด้วยการบีบแตรรถยนต์ลากยาวระหว่างขบวนเสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน และขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวนเสร็จ แต่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นไว้ได้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

--------------

เมื่อวานนี้ (12 ก.พ.67)  พล.ต.ต.อัฎธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 เดินทางมาที่ สน.ดินแดง เพื่อเตรียมสอบปากคำและแจ้งข้อหากับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และนายณัฐนนท์ ไพโรจน์  กลุ่มทะลุวัง ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เรียกตัวผู้ถูกกล่าวหา 2 คน มาสอบปากคำและรับทราบข้อกล่าวหา กรณีมีพฤติกรรมพยายามขับรถแซงขบวนเสด็จ ในขณะที่ขบวนกำลังแล่นผ่านทางด่วน พร้อมบีบแตรรถยนต์ลากยาวระหว่างขบวนเสด็จผ่านและใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย เหตุเกิด เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา บนทางด่วนย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


พล.ต.ต.อัฎธพร เปิดเผยว่า ทนายความของศูนย์สิทธิมนุษยชนได้นำหนังสือของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน มายื่นให้พนักงานสอบสวน เพื่อขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนออกไปเป็นวันที่ 20 ก.พ.นี้ โดยอ้างว่า ติดภารกิจเรื่องการเรียน จึงไม่สามารถเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเมื่อวานนี้ได้ โดยพนักงานสอบสวนได้ทำการลงบันทึกประจำวันรับหนังสือดังกล่าวไว้แล้ว ส่วนการอนุญาตให้เลื่อนหรือไม่นั้น พนักงานสอบสวนและคณะทำงานในคดีดังกล่าวจะประชุมหารือกันอีกครั้ง ว่าข้ออ้างดังกล่าว มีเหตุผลเพียงพอให้สมควรเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนออกไปหรือไม่ ในส่วนข้อหาและรายละเอียดในสำนวนยังไม่ขอเปิดเผย ซึ่งต้องรอกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา กับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
--------------

พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่กำกับดูแล ความมั่นคงและจราจร เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจะใช้มาตรา 116 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับกลุ่มคนที่พยายามคุกคามสถาบัน พร้อมสั่งให้พนักงานสอบสวนเข้าไปดูแลในเรื่องดังกล่าวแล้ว ว่าเข้าข่ายมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ และจะเรียกตัวกลุ่มคนที่กระทำการไม่บังควรมาพบพนักงานสอบสวนทันที  


รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ทุกประเทศมี "กฎเหล็กว่าด้วยการอำนวยความสะดวกและการดูแลความปลอดภัยบุคคลสำคัญ" ซึ่งเป็นหลักสากล  ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมถึงมีมาตรการการอำนวยความสะดวกการจราจรต่าง ๆ ให้กับรถฉุกเฉิน หรือโดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยบุคคลสำคัญในงานพิธี หรือพระราชพิธี หรือแม้แต่การประชุมต่าง ๆ รัฐบาลนานาประเทศล้วนมีมาตรฐาน ที่ถือเป็นหลักปฏิบัติอยู่แล้ว  สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันขบวนเสด็จเป็นการใช้ทางร่วมกับประชาชน ไม่ได้มีการปิดกั้นการจราจรเป็นเวลานาน แต่มีสัญลักษณ์รถนำขบวนและปิดท้ายขบวนชัดเจน โดยมีการอารักขาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ เพราะเป็นสถาบันที่คนไทยให้ความเคารพสักการะ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทย


"ผมในฐานะรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมแบบนี้ได้"

-------------

สำหรับมาตรา 116 ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต


(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย


(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร


(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี

-------------
เมื่อวานนี้ (12 ก.พ.67)  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่เรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาหารือเกี่ยวกับการอารักขาขบวนเสด็จ โดยระบุว่า เป็นการเรียกมาเพื่อกำชับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องให้การดูแลบุคคลสำคัญและกำชับให้สำนักงานข่าวกรองดูแลเรื่องนี้ให้ดีๆ เพราะไม่อยากให้มีการปะทะกันเกิดขึ้น อยากให้ประเทศอยู่กันด้วยความสามัคคี หากเห็นต่างก็ควรใช้เวทีที่เหมาะสม เช่น สภาหรือเวทีวิชาการ เพื่อพูดคุยกัน


เมื่อถามว่าตอนนี้มีหลายฝ่ายรวมถึงกองทัพออกมาแสดงพลังเพื่อปกป้องสถาบัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาทำกันปกติอยู่แล้ว ทุกฝ่ายรวมถึงกองทัพก็รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว


เมื่อถามว่าทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รายงานเรื่องการดำเนินคดีอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ขอวิงวอนเรื่องของการใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่เห็นด้วย และทุกสถาบันไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือตำรวจก็อยากที่จะเห็นความสมัครสมานสามัคคี  แน่นอนว่าเรื่องความเห็นต่าง มีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยและใช้เวทีที่ปลอดภัย ไม่เป็นที่คุกคามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากจะอ้อนวอนและวิงวอนให้ทุกฝ่ายเห็นถึงจุดนี้ เพราะเห็นว่าตอนนี้ประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยดี ความวุ่นวายก็ไม่มีมานานแล้ว ก็ไม่อยากให้มีประเด็นที่ทำให้เกิดความวุ่นวายเกิดขึ้น เป็นเรื่องของฝ่ายความรักษาความปลอดภัยและฝ่ายความมั่นคงที่ต้องดูแล


เมื่อถามว่า กังวลจะเป็นเหตุลุกลามบานปลายหรือไม่ เพราะว่าล่าสุดก็มีการปะทะกันรวมถึงขู่ทำร้ายกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการใช้กำลังหรือการใช้ Hate Speech อยากให้สองฝ่ายลดทอนลงไป อยากให้ใช้เวทีสาธารณะ ดีๆ ทั้งสภาและเวทีวิชาการพูดคุยกัน เพื่อให้มีความปลอดภัยกันทั้งสองฝ่าย เชื่อว่าทุกฝ่าย อยากเห็นประเทศชาติมีความปรองดองสมัครสมานสามัคคีกัน เป็นบรรยากาศที่พูดคุยกันได้ ซึ่งตนคิดว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญเรื่องนี้ และตนก็ได้เน้นย้ำกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเรื่องนี้ด้วย ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการกระทบกระทั่งกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความปลอดภัยของ ราชวงศ์เป็นเรื่องสำคัญ


เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล มองเรื่องนี้ความคิดเห็นทางการเมือง ควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่เคยมองไปไกลขนาดนั้น ตอนมองว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่ต้องดูแล บุคคลสำคัญของประเทศให้ดีที่สุด ไม่ให้มีการคุกคามหรือการใช้กำลัง และไม่อยากให้เอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของการเมืองด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง


เมื่อถามว่ากลุ่มเยาวชนที่ออกมาทำกิจกรรมก็ยังพูดถึงเรื่องของขบวนเสด็จ จึงทำให้เกิดการปะทะกัน ควรจะหยุดพฤติกรรมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการพูดคุยควรมีเวทีที่เหมาะสม เรามีตัวแทนของพี่น้องประชาชนอยู่แล้วในรัฐสภา ควรจะใช้เวทีสภาจะดีกว่าหรือไม่ เพราะเป็นเวทีที่ปลอดภัย และถูกต้องตามครรลองคลองธรรมในระบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ทุกฝ่ายทุกพรรคและคนที่เรารัก ก็ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ทุกฝ่ายก็มีตัวแทนอยู่แล้วในรัฐสภา ควรจะใช้เวทีนี้เป็นเวทีพูดคุย  ถ้าใช้เวทีอื่นเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคนเยอะ อาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน ตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะความจริงแล้วมันก็มีคนเดือดร้อน ตนไม่อยากให้เกิดบรรยากาศเหมือนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่เกิดการปะทะกลางห้าง เพราะมันไปสู่สายตาของชาวโลก ทุกประเทศก็มีการรักษาการรักษาผู้นำ เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญสูงสุด


เมื่อถามว่าเรื่องนี้มีผู้ใหญ่ให้ท้าย อยากจะขอความร่วมมืออย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ตนไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่ที่ไหนให้ท้าย แต่ถ้าจะให้ตนพูด ​เรื่องชัดเจน ไม่ควรมีใครให้ท้ายไม่ควรมีขบวนการอยู่ข้างหลัง เพราะขบวนเสด็จท่านเองก็มีภารกิจ พระองค์ท่านมีภารกิจตลอดเวลา พระองค์ท่านก็ทรงงานหนักทุกพระองค์ เพราะฉะนั้นในการเดินทางของทุกพระองค์ท่าน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญสูงสุด และฝ่ายที่เห็นต่าง  อย่างที่ผมบอกไปหลายหนแล้ว ให้ใช้เวทีที่ปลอดภัย เรามีสภา เรามีนักวิชาการ เราก็ต้องพูดคุยในเวทีที่ถูกต้อง ไม่อยากให้เป็นเวทีที่ใช้คำว่าท้าทาย อย่างเช่นตามศูนย์การค้าต่างๆ ไม่เหมาะสม เพราะผมเชื่อว่ามันไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ถูกต้อง สถานที่ช้อปปิ้งต่างๆ ก็มีคนที่เขาไปพักผ่อน แล้วเห็นบรรยากาศแบบนั้น อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยว ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่หวังดีต่อประเทศชาติ ไม่อยากให้เกิดบรรยากาศ​นี้เกิดขึ้นแน่นอน"

---------------

นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ทวีตว่า 


ผมหารือกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และพล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง


เรื่องที่ผมเป็นห่วงและขอกำชับคือเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ เพื่อไม่ให้ประเด็นนี้กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้โจมตีทางการเมืองของทุกฝ่าย หรือมือที่สามมาฉวยสร้างสถานการณ์ ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล และของผมในฐานะนายกฯ ขอย้ำครับว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลมีหน้าที่ถวายการอารักขาและรักษาไว้ซึ่งพระเกียรติยศของสถาบัน


ผมเชื่อว่าเราคนไทยเห็นตรงกันในเรื่องนี้ครับ
---------------

วานนี้ (12 ก.พ.67)  นายอักครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรค ย้ำถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้  ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการปรับปรุงประสิทธิภาพการถวายอารักขาขบวนเสด็จพระราชดำเนินและขบวนเสด็จ ซึ่งเบื้องต้นได้มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐแล้ว  และจะหารือกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำต่อไป โดยคาดหวังว่าจะสามารถพิจารณาได้ในวันพุธนี้ (14 ก.พ.)


ส่วนจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเพิ่มโทษการกระทำผิดหรือไม่ นายอัคราเดช กล่าวว่า จะต้องรอญัตติที่นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะเลขาธิการพรรค จะเสนอด้วยวาจาและรอการอภิปรายในที่ประชุม


อย่างไรก็ตาม ภายหลังนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล ได้มีมติให้เสนอญัตติดังกล่าวได้ในการประชุมสภาวันพุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นี้
---------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/QRpFXBxFsdY

คุณอาจสนใจ

Related News