สังคม

ป.ป.ช. แถลง 8 ข้อเสนอ โครงการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' กู้เสี่ยงขัดรธน. แนะรัฐฯช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

โดย parichat_p

7 ก.พ. 2567

16 views

คืบหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ซึ่งนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะโฆษก สำนักงาน ป.ป.ช. แถลงผลการศึกษาผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นจากการ ดำเนินโครงการ ดิจิทัลวอลเลต โดยมีประเด็นที่ควรพิจารณา คือด้านความเสี่ยงต่อการทุจริต ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านกฎหมาย และด้านอื่นๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี


นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ระบุว่า คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet" ได้ศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว และเห็นว่ามีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาจำนวน 4 ประเด็นหลัก


คือประเด็นที่ 1 คือ ความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ


ประเด็นที่ 2 คือความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต หากจำเป็นต้องทำโครงการ ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรเลือกกลุ่มเป้าหมายรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน


ประเด็นที่ 3 คือเสี่ยงด้านกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลจะต้องตระหนัก และใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัด และรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติ ที่ชัดเจน


ประเด็นที่ 4 คือประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการ กำหนดนโยบายของพรรคการเมือง


นายนิวัติไชย ยังแถลงผลการประชุม ที่มีมติเห็นควรเสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย


1. รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งผู้จะรับประโยชน์ มีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ เช่น เป็นผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง โดยต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนม


2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 กับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการนี้มีความแตกต่างกัน / กกต. ควรตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานให้พรรคการเมืองหาเสียงไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องปฎิบัติตามเมื่อได้รับการเลือกตั้ง


3.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจน ผลกระทบและภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส/การถ่วงดุล /การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง และความคล่องตัว


4.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อ ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 172 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561ในมาตรา 53 พ.ร.บ.คงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม //พ.รบ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมายคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน


6. การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในโครงการนี้ ต้องพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ ซึ่งโครงการนี้แจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน


7.ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัว ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาลควรพิจารณา และให้ความสำคัญ ต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐและเพิ่มทักษะแรงงาน เป็นต้น และหากจำเป็นต้องดำเนินการให้ภาวะที่เศรษฐกิจไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มเปราะบาง ที่ต้องการความช่วยเหลือแท้จริง


และข้อ 8 หากจำเป็นที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจนที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ ที่มิใช้เงินกู้

คุณอาจสนใจ

Related News