สังคม

สภากทม. ไฟเขียว งบ 2.3 หมื่นล้าน จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2

โดย attapan_n

7 ก.พ. 2567

158 views

วันที่ 7 ก.พ.2567 ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 6) ประจำปี พ.ศ.2567 สำหรับวาระที่น่าสนใจในวันนี้ เรื่องวาระการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ภายหลังคณะกรรมการวิสามัญฯพิจารณาร่างข้อบัญญัติเสร็จแล้วเรียบร้อยแล้ว

ภายหลังการประชุมร่วมกัน สภากรุงเทพมหานคร มีมติ เห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวาระ 2 และวาระ 3 เพื่อนำงบประมาณไปจ่ายหนี้โครงการงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 23,488 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 43 ไม่เห็นชอบ 0 และงดออกเสียง 1

นายชัชชาติ กล่าวว่า หลังร่างญัตติผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภา กทม.แล้ว หลังจากนี้จะนัดเจรจาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทกรุงเทพธนาคม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) และสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เพื่อพูดคุยกันในเรื่องการจ่ายเงิน ตามความเห็นของสภา กทม. หลังจากนี้ กทม. ต้องรอตัวข้อบัญญัติที่ผ่านสภาออกมา จากนี้ผู้ว่าราชการ กทม.จะลงก่อน ก่อนนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนั้นต้องทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย แจ้งความคืบหน้าการเตรียมชำระหนี้ ดังนั้นเรื่องการพิจารณาต่อรอง เรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เงื่อนไขก็จะเปลี่ยนไป เพราะเดิมมีหนี้ในส่วนนี้รวมอยู่ด้วย เพื่อให้มหาดไทยดำเนินการเรื่องการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานตามเห็นสมควร

จากนี้ไป กทม. จะเริ่มกระบวนการ รับโอนการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 มาให้ กทม. ดูแล / ส่วนรายละเอียดขั้นตอนการจ่ายเงินนั้น ในวันพรุ่งนี้จะมีการนัดเอกชน และกรุงเทพธนาคม เพื่อเจรจาขั้นตอนการจ่ายเงิน ยืนยันว่าการเจรจาต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้จำนวนเงินที่จะจ่ายนั้นจะเต็มวงเงิน 23,488 ล้านบาท หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจา อาจเป็นไปได้ว่าหากเจรจากันแล้ว วงเงินอาจจะลดลง เพราะจะมีการพูดคุยเรื่องการขอลดดอกเบี้ย แต่วงที่จ่ายต้องไม่เกิน 23,488 ล้านบาท







คุณอาจสนใจ