เลือกตั้งและการเมือง

‘กมธ.สวัสดิการ’ เตรียมเสนอร่างแก้กฎหมายผู้สูงอายุ ปรับเบี้ยเพิ่มเป็น 3,000 บาท

โดย chutikan_o

1 ก.พ. 2567

326 views

‘กมธ.สวัสดิการ’ เตรียมเสนอร่างแก้กฎหมายผู้สูงอายุ ปรับเบี้ยเพิ่มเป็น 3,000 บาท โดยไม่ของบเพิ่มแต่จัดสรรภาษีใหม่ วอนรัฐบาลพิจารณาก้าวข้ามสวัสดิการหลักร้อยเป็นหลักพัน

นายณัฐชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน พร้อมด้วยกรรมาธิการ สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าของอนุกรรมาธิการเรื่องของการพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน หรือ บำนาญ 3,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้มีการดำเนินงานมาหลาย ยุคหลายสมัยเพื่อเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ โดยมีการจ่ายทยอยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการริเริ่มสวัสดิการนี้ แต่ขณะนี้ตัวเลขเงินคงที่มานานแล้ว และเห็นว่าปัจจุบันนี้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพแล้ว ซึ่งกรรมาธิการชุดที่แล้วได้ตั้งอนุกรรมาธิการเรื่องของแหล่งรายได้ และแนวทางการพิจารณากรอบของกฎหมายและได้พิจารณาส่งร่างให้กับสภาผู้แทนราษฎรส่งไปยังฝ่ายบริหารขนาดนั้นนั่นก็คือนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ถูกตีตกเนื่องจากเป็นร่างเกี่ยวกับการเงิน เราจึงยังไม่หยุดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องและผลักดันเรื่องนี้

คณะกรรมาธิการจึงได้พูดคุยแล้วก็ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อที่จะพิจารณาระบบบำนาญพื้นฐานเกิดขึ้นซึ่งครั้งนี้เราพูดไปถึงว่าถ้าเกิดขึ้นไม่ได้ตามตัวเลขที่ภาคประชาสังคมส่งมาคือ 3,000 บาทต่อเดือน แล้วไม่ไปแตะในส่วนงบประมาณเพิ่มเติมเลยเราจะจ่ายได้เท่าไหร่ วันนี้เอาความเป็นไปได้เข้าว่า นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา โดยมี น.ส.วรรณวิภา เป็นประธานอนุกรรมาธิการ ที่พิจารณาเสร็จแล้ว และสุดท้ายข้อสรุปแนวโน้มที่เป็นไปได้ที่สุดไม่กระทบต่องบประมาณ ไม่กระทบต่อภาษีพอเพียงความจริงใจของภาคฝ่ายรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันเราก็จะสามารถขึ้นเงินผู้สูงอายุจาก 600 บาทได้ในสมัยนี้

น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า แม้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลและทำงานในหน้าที่ฝ่ายค้าน เราก็ใช้กลไกทุกช่องทางต่างๆ เพื่อจะนำไปสู่การไปต่อยอดกับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้และรับปากกับประชาชนไว้ เพราะฉะนั้นรายงานฉบับนี้จะเป็นก้าวแรกขั้นพื้นฐานของบำนาญประเทศไทยที่มีหลักร้อยมาเกินกว่า 30 ปีแล้วและไม่มีการปรับขึ้น ทั้งที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่าเราอยู่ในสังคมสูงวัย แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลยก็เป็นการไม่สอดคล้องกับสภาวะผู้สูงอายุปัจจุบัน

ในรายงานฉบับนี้มี 2 ส่วนแรกคือการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 ในมาตรา 11 ว่าด้วยเรื่องของการจ่ายเงินผู้สูงอายุ ซึ่งฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลเพราะเนื้อหาไม่เหมือนกัน โดย กมธ.ได้ใช้กฎหมายเก่ามาแก้ใหม่ว่าด้วยหลักการวิธีการของการจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งกฎหมายเดิมเขียนไว้ว่าให้จ่ายตามความเหมาะสมเห็นสมควร แต่กฎหมายฉบับใหม่คือให้จ่ายไม่น้อยกว่า เส้นผ่าความยากจนที่สภาพัฒน์กำหนดซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,900 กว่าเกือบ 3,000 บาท และได้มีความเห็นพ้องต้องกันในมติคณะกรรมาธิการ เซ็นลงนามในกฎหมายฉบับนี้เพื่อแก้ไขและกำลังจะยื่นสู่สภาในนามของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม และน่าจะเป็นกฎหมายฉบับแรก ของสภาชุดที่ 26 ที่มี สส.ทุกพรรคการเมืองเซ็นชื่อร่วมกันในนาม กมธ.

ส่วนที่ 2 ในเรื่องของการใช้เงินเราได้ศึกษาเพิ่มในเรื่องการใช้เงิน เพราะการทำเงินบำนาญประชาชนต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย เช่นปัจจุบันมีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพอยู่ที่ 11.8 ล้านคนใช้งบประมาณประมาณ 9 หมื่นล้านกว่าบาทแต่เมื่อเปรียบเทียบกับงบ กับบำนาญในส่วนอื่นไม่ว่าจะเป็นข้าราชการที่กินงบประมาณไปกว่า 3 แสนล้าน เปรียบเทียบกับบำนาญประชาชนยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่

ดังนั้นบำนาญฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นหรือบอกว่าจะลดบำนาญข้าราชการ แต่เราชี้ให้เห็นว่าบำนาญของภาคประชาชนใช้งบประมาณน้อยมากกับคนเกือบ 12 ล้านคน จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นทีเดียวแบบก้าวกระโดดแบบ 3,000 บาทแต่อาจจะขึ้นเป็นขั้นจากปีแรกจาก 600 เป็น 1,200 บาทถ้วนหน้าได้หรือไม่ แล้วปีต่อไปอาจจะเพิ่มเป็น 2,000 หรือ 3,000 บาท โดยที่เราเรียกทุกหน่วยงานทั้งภาคประชาชน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักวิชาการ เพื่อช่วยกันพิจารณา เป็นรายงานฉบับนี้ขึ้นมา ว่าหากจะปรับเงินบำนาญ ของประชาชนเพิ่มขึ้นจะทำได้อย่างไร

แน่นอนว่า ในปีแรกจะปรับขึ้นจาก 600 เป็น 1,200 บาท ต้องใช้งบประมาณเพิ่มประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท จึงคิดว่า ถ้าเราแก้ระเบียบการใช้งบกลางที่ฉุกเฉินหรือซ้ำซ้อนกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เราสามารถมีเงินเข้ารัฐถึง 40,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าปีแรกเราจะปรับเพิ่มจาก 600 เป็น 1,200 ได้แน่นอน

ฉะนั้น อนุกรรมาธิการก็ศึกษาไปอีกว่าหลังจากนั้นถ้าเพิ่มอีกเราจะทำอย่างไรดูแลทั้งภาษีเก่าที่เรามีอยู่และปรับปรุงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ boi ภาษีที่ดินที่ดินรวมแปลงที่เรายังไม่เคยแก้ไขในอนาคตเราควรจะปฏิรูปภาษีเหล่านี้หรือไม่หรือในอนาคตภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็นภาษีด้านพลังงานภาษีบาปภาษีด้านอื่นๆหรือกองสลาก ที่มีคนถูกแล้วไม่มาขึ้นเงิน เราจะต้องหาทุกช่องทางว่าจะนำภาษีตัวใหม่ๆ หรือตัวอื่นๆ เข้ามาในตัวบำนาญได้หรือไม่ จึงอยู่ในรายงานฉบับนี้ที่จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และรายงานฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการที่จะเป็นก้าวแรกของจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงเรื่องบำนาญพื้นฐาน

ทั้งนี้ คิดว่าทุกพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงไว้น่าจะสนับสนุนรายงานฉบับนี้ รวมถึง พ.ร.บ.ที่เรายื่นในนามกรรมาธิการและพรรคการเมือง หรือภาคประชาชน หวังว่านายกรัฐมนตรีจะเซ็นรับรองและนำให้มาถกเถียงกันในวาระแรก เพื่อสร้างบำนาญพื้นฐานประชาชนได้หรือไม่

นายณัฐชา กล่าวย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นผลงานของทุกพรรคการเมือง เนื่องจากว่าแก้ในหลักใหญ่ใจความในเรื่องของการจ่ายเงิน ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ใส่ตัวเลขเงินไว้ว่าอายุ 60 ปีจ่ายเท่าไหร่อายุ 70 ปีจ่ายเท่าไหร่ แต่เป็นกรอบที่เปิดไว้กว้างๆ ที่รัฐบาลนั้นสามารถอนุมัติได้แต่ขอให้อ้างอิงจากเส้นแบ่งความยากจน แต่ถ้าหากให้ได้ไม่ถึงเส้นแบ่งความยากจนอย่างน้อยๆ ก็ไล่เรียงลงไป

“วันนี้ระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ให้กับผู้สูงอายุเราหยุดชะงักอยู่ตั้งแต่ปี 2554 ที่ประวัติศาสตร์การเมืองจารึกไว้ในสมัยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะกรรมาธิการจึงขอวิงวอนไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ท่านจะได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่ารัฐบาลของท่านนายกเศรษฐาเป็นผู้จะปรับฐานบำนาญพื้นฐานประชาชนจากหลักร้อยให้เป็นหลักพันได้ในยุคสมัยของท่าน โดยการร่วมงานกับกรรมาธิการ เพราะกรอบเงินงบประมาณที่เราคิดไว้ในรายงานฉบับนี้ไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเลยเงินงบประมาณปี 2567 ใช้เงินบำนาญ 92,000 ล้านบาท แต่ในรายงานฉบับนี้บอกว่าจะหาและจัดสรรปันส่วนในส่วนของสวัสดิการให้ได้มาเพิ่มอีก 40,000 กว่าล้านนั่นหมายความว่า 13 หมื่นล้านท่านปรับจากหลักร้อยเป็นหลักพันได้ทันที” นายณัฐชากล่าว

นายณัฐชาจึงอยากให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบรายงานและส่งไปยังนายกรัฐมนตรีและขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความเดือดร้อนของประชาชนนี้และก้าวข้ามการช่วยเหลือประชาชนหลักร้อยที่มีมาอย่างยาวนานหลาย 10 ปีให้เป็นรายหลักพันในรุ่นของพวกเรา

คุณอาจสนใจ

Related News