สังคม

ดับฝันคนไทย! กพร.แจงไทยไม่ใช่อันดับ 3 มี ‘แร่ลิเทียม’ มากสุดในโลก ชี้ข้อมูลคาดเคลื่อน

โดย petchpawee_k

20 ม.ค. 2567

127 views

กรณีที่มีข่าวระบุว่าไทยสำรวจพบแร่ลิเธียม 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินานั้น

วานนี้ (19 ม.ค.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ระบุว่า

“ประเทศไทย พบแหล่งแร่ ที่มีธาตุลิเธียม จริง แต่ไม่น่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกนะครับ”


มีรายงานข่าวเผยแพร่กันอย่างน่าตื่นเต้นว่า “ข่าวดี พบแร่ลิเธียมในไทย ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เพิ่มศักยภาพผู้นำผลิตรถยนต์ EV ในอาเซียน”  ซึ่งก็นับว่าเป็นข่าวดีจริงๆ ครับ ที่เราค้นพบหินแร่ธาตุหายาก ที่กำลังเป็นที่ต้องการของทั้งในไทยเราเองและในต่างประเทศ อย่างเช่น ธาตุลิเธียม

แต่ประเด็นคือ ไทยเรามีลิเธียมเยอะมาก ขนาดนับเป็นอันดับ 3 ของโลกเชียวหรือ ?


ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข “14.8 ล้านตัน” ที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า “หินเพกมาไทต์ “ ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน


เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเองครับ !?  ทั้งนี้ทั่วโลกมีแหล่งทรัพยากรธาตุลิเทียมประมาณ 98 ล้านตัน


โดยอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีปริมาณทรัพยากรชนิดนี้มากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้ดังนี้: โบลิเวีย 21 ล้านตัน; อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน; อเมริกา 12 ล้านตัน; ชิลี 11 ล้านตัน; ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน; จีน 6.8 ล้านตัน เป็นต้น  

และถ้าดูจากลำดับประเทศที่ “ขุดเหมือง-ถลุงลิเธียม” ขึ้นมาได้จริงๆ แล้ว ก็ไม่ใช่ประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเธียมเยอะที่สุด อย่างโบลิเวียและอาร์เจนตินา ด้วย แต่กลับเป็นออสเตรเลีย

กพร.ออกโรงแจงข้อมูลแร่ลิเทียมในไทยเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ชี้ไทยไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก แต่มีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก

ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกชี้แจงว่า  ได้ชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

“สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า

อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะ คือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต”

ขณะที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยืนยันกับข่าว 3 มิติว่า บริษัทเอกชนที่ได้อาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่ที่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา จำนวน 3 แปลง เนื้อที่กว่า 7 พันไร่ พบว่า 1 แปลง ในจำนวนนี้ พบมินิรอล รีซอร์ส หรือปริมาณสำรองทางธรณีของแร่ ลิเทียม 14,800,000 ตันจริง แต่ย้ำว่าเป็นแร่ดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการถลุง หรือแต่งแร่


แร่ดิบที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนถลุงหรือสกัด ก็คือแร่ที่ปะปนอยู่ในหินเพกมาไทต์ จึงไม่อาจเปรียบเทียบกับการค้นพบแต่ละประเทศไทย เพราะนิยามคำว่ารีซอร์ส หรือแร่ในแต่ละแห่ง อาจแตกต่างกัน


อธิบดีกรม กพร.ระบุว่า เกรดของแร่ลิเทียมที่สำรวจพบอยู่ที่ 0.45 เปอร์เซ็นต์ ลิเทียมออกไซด์ ถือว่าคุณภาพ ระดับกลาง และอ้างอิงทฤษฎีว่า หากนำแร่ดิบราว 14 ล้าน 8 แสนตัน ไปผ่านกระบวนการสกัดจะได้แร่ลิเทียมราว 1 แสน 6 หมื่นตัน ซึ่งคำนวณจากขั้นตอนต่างๆประมาณการณ์ว่าจะเพียงพอสำหรับผลิตแบตเตอรี่ให้รถยนต์ไฟฟ้าได้ 1 ล้านคัน

อธิบดีกรม กพร.ระบุว่าขณะนี้มีผุ้ได้รับอาชญายบัตรพิเศษเพื่อสำรวนลิเทียม 3แปลงในพื้นที่จังหวัดพังงา/ และมีคำขออาญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในจังหวัดอื่นๆเช่นราชบุรี และยะลา โดยระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพบลิเทียมในพื้นที่ ที่เคยพบแร่ดีบุกมาก่อน และประเทศไทยก็มีหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นเหมืองดีบุกมาก่อนหน้านี้


 https://youtu.be/ypezvsDWJDs

คุณอาจสนใจ

Related News