สังคม

เปิดข้อมูลแหล่ง 'แร่ลิเทียม' ในไทย พบกระจายมากถึง 4 จังหวัด

โดย parichat_p

19 ม.ค. 2567

190 views

จากการเปิดเผยข้อมูลการพบลิเทียม วันนี้ผู้สื่อข่าวได้ไปพิพิธภัณฑ์แร่-หิน กรุงเทพมหานคร ของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อดูว่าแร่ชนิดนี้ มีลักษณะอย่างไร ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นสายแร่อยู่ในชั้นหิน ไปจนกระทั่งการเปิดเผยขั้นตอนของการสกัดออกมา เพื่อใช้ประโยชน์ โดยปัจจุบันยังมีสายแร่ลิเทียมกระจายอยู่มากถึง 4 จังหวัดในทั่วประเทศ


หินก้อนนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ ที่มีลิเทียม ซึ่งเป็นแร่หายากแทรกตัวอยู่ ถูกจัดแสดงอยู่ในโซนทรัพยากรแร่หิน พิพิธภัณฑ์แร่-หิน กรุงเทพมหานคร ของกรมทรัพยากรธรณี โดยเป็นการตัดแบ่งออกมาจากสายแร่ ที่ปรากฎอยู่บนเนื้อหิน ซึ่งส่วนใหญ่พบในหินอัคนี ร่วมกับสายแร่อื่นๆ โดย แร่เลพิโดไลต์ ประกอบไปด้วยธาตุ ลิเทียม อลูมิเนียม ซิลิกอน ออกซิเจน ออกซิเจนไฮดรอกไซด์ และฟอสฟอรัส เป็นสูตรทางเคมี


แร่เลพิโดไลต์ ที่มีลิเทียมก้อนนี้ มีขนาดสมบูรณ์มาก ทำให้เห็นความชัดเจนของลิเทียมที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งปกติแล้วมักจะปะปนอยู่ร่วมกับแร่อื่นๆ เช่น ทัวร์มาลีนสีชมพูและสีเขียว แอมบลิโกไนต์ และสปอดูมีน แทรกสลับขนานกันไป บางครั้งอาจพบได้ทั้งในหินอัคนี หินแกรนิต หรือ หินไนส์ได้อีกด้วย


นายธวัชชัย เชื้อเหล่าวานิช นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า โดยทั่วไปลิเทียมมักพบปะปนไปกับแร่ธาตุชนิดอื่นๆ เช่น ดีบุก ตามชั้นหิน ทำให้เมื่อสกัดแล้วจากลิเทียมก้อนใหญ่อาจเหลืออยู่ในปริมาณไม่มากนัก โดยลิเทียมมีคุณสมบัติเป็นโลหะเบา สามารถทนความร้อนได้สูง จึงสามารถนำไปสกัดได้ตามกระบวนการทางเคมี เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแบตเตอรี่ และ ใช้ในอุตสาหกรรมแก้วทนไฟ หรือ ที่เรียกว่า ลิเทียมไมกาได้


บัญชีทรัพยากรแร่ของไทย ปี 2566 เปิดเผยว่าไทยพบแร่มากกว่า 40 ชนิด ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 96,280 ตารางกิโลเมตร หรือ กว่า 60 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยมีปริมาณทรัพยากรแร่รวมทั้งหมดประมาณ 30 ล้านล้านตัน เป็นมูลค่าประเมินไว้กว่า 44,410 ล้านบาท


อันดับ 1 คือ เกลือหิน พบกว่า 18 ล้านล้านตัน หรือ เกือบร้อยละ 60 ของทรัพยากรทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ / อันดับ 2 เป็นหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ประมาณ 8 ล้านล้านตัน และ อันดับ 3 หินปูนในอุตสาหกรรมซีเมนต์ 1 ล้านล้านตัน


โดยประเทศไทยมีกรมทรัพยากรธรณี เป็นผู้ดำเนินการสำรวจทรัพยากรต่อเนื่องในทุกๆ ปี ซึ่งสำหรับแร่ลิเทียมในปัจจุบันพบใน 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต


ปัจจุบันมนุษย์สามารถนำแร่มาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายตามคุณสมบัติของแร่แต่ละชนิด ซึ่งยังมีการค้นพบต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑ์แร่หิน กรุงเพทมหานคร หรือ ที่พิพิธภัณฑ์ด้านธรณีวิทยาแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ

คุณอาจสนใจ

Related News