เลือกตั้งและการเมือง

ราชทัณฑ์ ชี้ 'ทักษิณ' เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง-สูงวัย-ป่วยหลายโรค

โดย thichaphat_d

18 ม.ค. 2567

72 views

กรมราชทัณฑ์ ตั้งโต๊ะแถลงทักษิณ เข้าข่ายเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ ชี้คุณสมบัติครบ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง – สูงวัย - เจ็บป่วยหลายโรค เป็นอำนาจ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พิจารณาก่อนเสนออธิบดีราชทัณฑ์

ช่วงสายวานนี้ (17 ม.ค.67) นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม, นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร และนายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงประเด็นสำคัญของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน

โดยนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ในส่วนของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ มานานกว่า 120 วัน ซึ่งในส่วนของกรมราชทัณฑ์ได้มีการรายงานเป็นลำดับขั้นตั้งแต่ห้วงเวลา 30 วัน 60 วัน และเมื่อครบ 120 วันมาตามขั้นตอน จนวันที่ 16 ม.ค.พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ปัจจุบันเกินมากกว่า 136 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฏหมาย

ที่ผ่านมา การเข้ารับรักษาตัวของนายทักษิณภายนอกเรือนจำ มีการถูกตรวจสอบจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช.  โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการส่งตัวแทนขึ้นไปบนชั้นที่ 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ และได้พบตัวนายทักษิณ ส่วนตัวมองว่าในฐานะข้าราชการการเมือง ก็มั่นใจว่านายทักษิณนอนพักที่โรงพยาบาลตำรวจจริง ไม่ได้อยู่นอกโรงพยาบาลตามที่สังคมตั้งข้อสงสัย

นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษก ระบุว่า สำหรับความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมราชทัณฑ์  มีการประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้ ส่วนความคืบหน้าของระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในวันประชุม ทางฝ่ายเลขาก็ได้นำเสนอในที่ประชุมว่าถ้าหากคณะกรรมการราชทัณฑ์ท่านใดมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องรับฟัง

อีกทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิก็จะส่งข้อมูลให้กรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา แต่ ณ วันนี้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำยังไม่ได้มีการดำเนินการใด เพราะต้องรอระเบียบหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัตินี้ก่อน ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว ต้องใช้ในการจำแนกวิเคราะห์เช่นกัน ว่ารายคดีใดจะได้ประโยชน์ หรือรายคดีใดต้องละเว้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะต้องไปศึกษาให้รอบคอบก่อนว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร ส่วนจำนวนผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะใช้พิจารณาก็ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการศึกษาให้รอบด้านก่อน และต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อความรัดกุมที่สุด

นายสิทธิ ระบุถึงประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ทางผู้บัญชาการเรือนจำ แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาว่านักโทษรายใดมีความเหมาะสมหรือผ่านคุณสมบัติที่สมควรได้รับการพักโทษ ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษ และแบบปกติ ซึ่งผู้ต้องขังไม่สามารถเสนอตัวเองได้ ซึ่งในแต่ละเรือนจำจะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์นักโทษในทุกเดือน แล้วจะมีการเสนอชื่อมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักโทษ ที่จะมีการประชุมในทุกเดือนเช่นกัน

ซึ่งในส่วนของนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงประเด็นรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่

นายสิทธิ ระบุอีกว่า ในส่วนของนายทักษิณ หากพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษจากการเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่ยืนยันได้ว่า ณ วันนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ถึงกรณีดังกล่าว แต่กระบวนการต่อจากนี้ หากตัวนายทักษิณผ่านเข้าโครงการดังกล่าวจริงก็จะเป็นการดำเนินการโดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องจัดทำเอกสารชี้แจงเสนอคณะกรรมการพิจารณาอย่างไร รวมถึงกรณีการติดกำไล EM ด้วยเช่นกัน ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษ ที่จะต้องพิจารณาเหตุต่างๆ หากจะไม่มีการติดกำไล EM ก็ต้องมีเหตุผลประกอบชี้แจงเช่นกัน

นายสิทธิ ระบุถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วก็จะมีต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติ จะต้องไปหาว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพอะไร และจะต้องมีการรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องกำหนดอาณาเขตว่าผู้ที่ถูกคุมประพฤติหรือผู้ที่อยู่ในการพักโทษ จะมีขอบเขตรัศมีในการเข้าออกหรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วนบทบาททางการเมืองในระหว่างการพักโทษ สามารถทำได้หากไม่ได้กระทำที่ผิดระเบียบปฏิบัติ



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/jfG_Qg4wqIU

คุณอาจสนใจ

Related News