เลือกตั้งและการเมือง

‘ศิริกัญญา’ ห่วง ดันร่างพ.ร.บ.กู้เงิน เป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดี – ‘นพ.พรหมมินทร์’ แจงกมธ. ย้ำสถานการณ์ประเทศวิกฤต

โดย petchpawee_k

12 ม.ค. 2567

105 views

“ศิริกัญญา” ลุ้นแทนรัฐบาลดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงินผ่านทันหรือไม่ ชี้คงต้องหาวิกฤติใหม่เป็นเหตุผลในการกู้เงินสำเร็จ หวั่นเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดี บอกต่อไปนี้ไม่ต้องแคร์งบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว 


วานนี้ (11 มกราคม 67 ) ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการงบประมาณฯ จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่าในฐานะที่ตนเองดูด้านเศรษฐกิจก็ได้สอบถาม วิกฤติเศรษฐกิจจะต้องหน้าตาเป็นอย่างไร มีตัวชี้วัดอย่างไร แต่ละหน่วยงานก็ตอบคำถามกันทุกหน่วยงาน ยกเว้นสำนักงบประมาณ ซึ่งวิกฤตมีทั้ง วิกฤตทางด้านการเงิน ที่มีเอ็นพีแอลสูง คนแห่ไปถอนเงิน วิกฤติภายนอกจากต่างประเทศ


เช่น ปัญหาการส่งออก นำเข้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน หรือวิกฤตทางด้านแรงงาน คนตกงานจำนวนมาก วิกฤตการคลังคือเงินคงคลังลดต่ำ เหลือน้อย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้แลกเปลี่ยนกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ และอาจจะเป็นหน่วยงานที่อยู่ในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย ที่จะต้องให้ความเห็นกับนายกรัฐมนตรี ว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤติหรือไม่ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับ กมธ. และเท่าที่ไล่ดู 5-6 วิกฤตินี้ ยังไม่มีอันไหน สามารถอธิบายเหตุการณ์ ณ ปัจจุบันได้


เมื่อถามว่า เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงแบบนี้จะผ่านด่านการพิจารณาของ คณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตหรือไม่ นางสาว ศิริกัญญากล่าวว่า ก็หินอยู่ ก็ไม่รู้ว่าต้องไปค้นวิกฤติใหม่ใหม่ขึ้นมาหรือไม่ เพื่อทำให้เกิดวิกฤตจริงๆ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยไม่สู้ดีจริงๆ โตต่ำจริง ๆ และต้องการสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ที่ต้องตีความว่ามันเกิดวิกฤติ จึงสามารถกูได้ ก็เลยเป็นอุปสรรค


ที่สำคัญคือมันจะเป็นบรรทัดฐานด้วย ถ้าร่างพระราชบัญญัตินี้สามารถผ่านได้ ต่อจากนี้ไปรัฐบาลก็ไม่ต้องแคร์งบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว บอกแค่ประเทศต้องการการกู้เงิน ก็สามารถทำได้เลยแบบนี้ก็จะทำให้เป็นมาตรฐานที่ไม่ดีในอนาคต


ส่วนกรณีที่ฝั่งรัฐบาล ให้ไปไล่ดูตลาดว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไรนั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่าอย่างที่บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี การจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ฝืดไปหมด และต้องการการเข้าไปแก้ไขปัญหาของรัฐบาลโดยเร่งด่วน โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงเดือนพฤษภาคม ถ้าวันนี้ตลาดมันเงียบ มันฝืด ค้าขายลำบาก ก็ให้รัฐบาลเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอให้ถึงเดือนพฤษภาคม แล้วค่อยไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน


เมื่อถามว่าถ้า พ.ร.บ.กู้เงินผ่านสภาแล้ว ฝ่ายค้านจะมีมติเป็นอย่างไร นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่าต้องดูในรายละเอียดก่อนว่าหน้าตาร่างฯ จะเป็นอย่างไร ในเชิงหลักการจะต้องตีความตามกฏหมาย ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฤษฎีกาได้ตีความหรือไม่ แต่ความเร่งด่วนทางเศรษฐกิจตอนนี้เรายังไม่เห็น เราก็คงจะต้องโหวตไม่รับร่างฯ ไปก่อน


อย่างไรก็ตามต้องดูเนื้อหาประกอบ ส่วนจะทันในเดือนพฤษภาคมหรือไม่ ก็คงต้องช่วยกันลุ้น ซึ่งวันนี้วันที่ 11 มกราคม แต่ก็ยังไม่มีการนัดประชุมคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตชุดใหญ่เลย และยังต้องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้ามายังสภา ซึ่งประเมินว่าก็คงจะผ่านสภา เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่ก็ยังมีด่าน สว. ที่อาจจะล่าช้าได้อีก ถ้าไม่รับหลักการก็ต้องตีกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรว่าจะเห็นชอบร่างฯนี้หรือไม่ ยังไม่รวมอีกหลายหน่วยงานที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือนักร้องเจ้าประจำต่างๆ ดังนั้นต้องช่วยกันลุ้นว่าจะทันเดือนพฤษภาคมหรือไม่

-----------------------------------------------------

“นพ.พรหมมินทร์” เลขานายกฯ แจง กมธ.งบฯ ย้ำสถานการณ์ประเทศวิกฤติ จำเป็นต้องมีมาตราการแก้ไข


วานนี้  ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการพิจารณางบประมาณในส่วนของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งนี้ระหว่างการประชุมนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ กรรมาธิการวิสามัญ ได้อภิปรายสอบถามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ว่าอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ หลังจากเลขาธิการนายกฯมักให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายครั้งว่าเศรษฐกิจประเทศอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตช้า


โดยนายแพทย์พรหมมินทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับกบที่ถูกต้ม หมายความว่า จะค่อยๆซึมยาวจนไม่รู้สึก แต่พอเมื่อรู้สึกตัวแล้วก็จะมีปัญหา สถานการณ์ตอนนี้ขอแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่


1.ตั้งแต่ปี 2550 ก่อนมาถึงเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด จะพบว่าตัวเลขการส่งออกของประเทศเริ่มมีปัญหาแล้ว

2.ช่วงโควิด โดยเศรษฐกิจของไทยตกลึกที่สุดในภูมิภาคนี้และเติบโตช้าที่สุด


และ 3.ปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดจากอัตราเงินเฟ้อที่ตกลง แต่ดอกเบี้ยยังสูงขึ้น ประเทศไทยโตแบบไม่เท่ากัน จำนวนหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในรอบ 10 ปี จาก 70% ต่อจีดีพี เป็น 91.6 % ต่อจีดีพี แสดงว่าคนจนกำลังยากจนลงเรื่อยๆ

เลขาธิการนายกฯ กล่าวอีกว่า เวลาเอาตัวเลขภาพรวม อาจจะดูไม่ชัด แต่คนทื่เดือดร้อน ถ้าลองถามประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว เดือดร้อนแล้ว เขาถือว่าวิกฤติ เพราะฉะนั้นอัตราการเกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงขอตอบว่าภาวะของประเทศอยู่ในวิกฤติซึมยาว จำเป็นต้องมีมาตรการในการแก้ไข



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/acvgqETG2dE


คุณอาจสนใจ

Related News