อาชญากรรม

DSI แจ้งข้อกล่าวหา "อดีตรัฐมนตรี-ขรก.แรงงาน" รวม 4 คน หักหัวคิวส่งคนไทยไปฟินแลนด์

โดย nutda_t

11 ม.ค. 2567

1.9K views

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดยกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ร่วมสอบสวน มีมติร่วมกันให้กล่าวหากับอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน อีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 โดยจะเร่งสรุปสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป


กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีการค้ามนุษย์ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 81/2566 เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องแรงงานไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในสาธารณรัฐฟินแลนด์ ที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในการเดินทางกลับประเทศไทย

ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พบว่าเป็นคดีความผิดที่ส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร จึงเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนต่อไป และอัยการสูงสุดได้มอบหมายพนักงานอัยการมาร่วมสอบสวน ซึ่งมีการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากสาธารณรัฐฟินแลนด์ในความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมาทางการสาธารณรัฐฟินแลนด์ ได้ส่งพยานหลักฐานสำคัญตามที่ทางการไทยร้องขอให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ

โดยจากการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และพยานหลักฐานที่ได้จากความร่วมมือระหว่างประเทศกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐฟินแลนด์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของสาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นค่า “หัวคิว” (DOE MAMAGEMENT) หรือค่าดำเนินการ เฉลี่ยรายละ 3,000 บาท โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทประสานงานฝั่งไทยได้นำมาเรียกเก็บจากคนงานที่ไปทำงานอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามจริง โดยในปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นช่วงดำเนินคดี มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการ ได้มีมติกล่าวหาบุคคลดังกล่าว รวม 4 คน และจะนำส่งสำนวนคดีพิเศษดังกล่าว ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ดีเอสไอ

คุณอาจสนใจ

Related News