เลือกตั้งและการเมือง

‘อนุทิน’ ตอบข้อสังเกตุ “งบลงทุน” ก.มหาดไทย ย้ำยุทธศาสตร์ มุ่งพัฒนา ลดเหลื่อมล้ำ

โดย attayuth_b

4 ม.ค. 2567

26 views

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร บรรยากาศการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลุกขึ้นชี้แจง ในประเด็นที่เกี่ยวกับงบประมาณกระทรวงมหาดไทย ว่า ที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่ากระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด และมีสัดส่วนงบลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ

ก่อนอื่นต้องขอกราบเรียนว่า ข้อกังวลในการจัดทำงบประมาณแต่แรกนั้น คือความกังวลว่า งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย จะไปหนักอยู่ที่งบปฏิบัติการหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็หมายถึงเราทำงาน routine มาก และทำงานพัฒนาน้อย ในยามที่ประเทศกำลังต้องการการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อชดเชยกับความถดถอยที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดทั่วโลก

แต่เมื่อได้จัดทำงบประมาณแล้ว มีการจัดสรรเป็นงบลงทุนกว่า 30% ของงบประมาณที่ได้รับ ตามที่ท่านสมาชิกได้กล่าวถึง ก็มีความสบายใจเป็นเบื้องต้นว่าเรามาถูกทาง ในเรื่องการจัดสัดส่วนงบประมาณ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่เราจะพัฒนา งานของกระทรวงมหาดไทย ให้มีความทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที ตามแนวทางที่วางไว้ได้จริง

เพื่อให้ท่านได้เห็นภาพรวม ขอแจกแจงผ่านท่านประธานไปยังสมาชิก และพี่น้องประชาชนว่า ในงบประมาณวงเงิน เกือบ 4.6 แสนล้าบาท ของกระทรวงมหาดไทยนั้น จะถูกแบ่งไปยังส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์การจัดการน้ำเสีย กองทันพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ซึ่งในวงเงินดังกล่าวสำหรับปีงบประมาณ 2567 นั้น เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่แล้ว คิดเป็นร้อยละประมาณ  10.5  ซึ่งเป็นสัดส่วนการเพิ่มที่สอดคล้องกับงบประมาณรัฐบาลในภาพรวม โดยหากนำงบประมาณที่จัดสรรเป็นก้อนๆทั้งหมด มาไล่เรียงจากมากไปหาน้อย ตามรายจ่ายเชิงยุทธศาสตร์ จะพบว่า ด้านที่เราใช้จ่ายเงินเป็นสัดส่วนสูงที่สุด คือ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเป็นวงเงินถึง 3.4 แสนล้านบาทเศษ หรือคิดเป็นเกือบ 75% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งผมเชื่อว่า เรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมนี้ ถือว่าอยู่ในลำดับความสำคัญต้นๆของการพัฒนาประเทศ และสามารถตอบสนองความต้องการลดความเหลื่อมล้ำในใจของพี่น้องประชาชนด้วย

นอกจากนี้ ยังมี “ยุทธศาสตร์” ด้านอื่นๆ ที่เราให้น้ำหนักในการจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ  ด้านความมั่นคง ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และ ด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  ตามลำดับจะเห็นได้ว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในเชิงยุทธศาสตร์ของกระทรวงมหาดไทยนั้น นอกจากจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยมีพันธกิจร่วมด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน และการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน จึงถือเป็นการจัดสรรงบประมาณ เพื่อการพัฒนา เพื่อความก้าวหน้า อย่างแท้จริง

เพื่อให้ท่านสมาชิกและพี่น้องประชาชน พอเห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม จะขอไล่เรียงคร่าวๆ ถึงโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในปี 2567 นี้ ได้แก่ โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2

โครงการที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน สนองนโยบาย E-government เช่น โครงการอำนวยการบริหารการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ในการออกหนังสือผ่านแดนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Border Pass โครงการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล หรือ Digital ID

โครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ การจัดการฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน โครงการของกรมที่ดินที่เกี่ยวกับการพัฒนาสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิคส์ และการจัดการข้อมูลที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของสำนักงานที่ดิน เพื่อรองรับสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการพัฒนาบริการประเภท One Stop Service ต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับโครงการที่จะสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ไปจนถึงการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในสังคม เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การส่งเสริมสนับสนุนการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งโครงการที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ คือการลงทุนที่นอกเหนือจากงานบริการประชาชน ที่จะต้องพัฒนาไปตามรอบและตามแผนระยะยาวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประปาที่เรากำลังเน้นเรื่องน้ำประปาดื่มได้ ไฟฟ้า งานของกรมโยธาธิการและผังเมือง และงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการปรับปรุงเทคนิควิธีการทำงานให้ทันสมัยขึ้น จะเห็นได้ว่า งานของหน่วยงานที่ใช้งบประมาณภายใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทยนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นงานประจำ รายจ่ายประจำ และมีทั้งส่วนที่เป็นการลงทุนพัฒนา เพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และเป้าหมายใหม่ๆทั้งของรัฐบาลและของประเทศ

นอกจากนั้น เรายังให้ความสำคัญกับ การบูรณาการ กับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้หมายถึงการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนะครับ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างการแก้ไขหนี้นอกระบบ ซึ่งเราบูรณาการร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรืองานจัดการจราจร ลดอุบัติเหตุและอาชญากรรมในช่วงเทศกาล ซึ่งเราบูรณาการเป็นอย่างดีระหว่างฝ่ายปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

ขอเน้นว่า การบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ได้หมายถึงการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กันคือการทำสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม แต่มีส่วนในการเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือรายได้ของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย การปราบปรามผู้มีอิทธิพลไม่ให้เกิดการทุจริตในท้องที่ การปรับเวลาเปิดสถานบริการที่จะเอื้อให้คนทำมาหากินได้มากขึ้นอย่างปลอดภัย การควบคุมอาวุธปืนที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ไม่ต้องเกิดการสูญเสียงบประมาณไปใช้ในเรื่องที่ไม่ควรเกิด หรือการสนับสนุนนโยบายฟรีวีซ่าและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลนักท่องเที่ยว ก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดรายได้โดยไม่ต้องลงทุนงบประมาณเพิ่มมากมาย นี่คือสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญ

ในโอกาสนี้ ขอเรียนให้ทราบด้วยว่า นอกจากงานในส่วนของกระทรวงมหาดไทย และการบูรณาการงานร่วมกันกับหน่วยงานนอกกำกับแล้ว กระทรวงที่อยู่ภายใต้กำกับของผมเองในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ก็มีการเซ็น MoU เพื่อเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ที่กระทรวงแรงงานก็มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผลิตและพัฒนากำลังคนในภาคการศึกษาและภาคแรงงาน โดยเน้นการ Up-skill เพื่อให้เกิดโอกาสในการเพิ่มรายได้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย แรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวง อว.

ทั้งหมด เพื่อตอกย้ำกับทุกท่านว่า นอกจากการจัดสรรงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการ maximize หรือใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และนี่คือแนวทางที่ผมใช้กับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในกำกับทั้งหมด

สุดท้ายขอเรียนให้ความมั่นใจ ผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพี่น้องประชาชนว่า กระทรวงมหาดไทยจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และเรายินดีรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงในรายละเอียดที่เป็นไปได้ต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน


คุณอาจสนใจ

Related News