เลือกตั้งและการเมือง
'ศิริกัญญา' ชำแหละร่างงบประมาณปี 67 ด้าน 'จุลพันธ์' แจงงบบางเรื่องไม่จำเป็นต้องอยู่ในงบประมาณ
โดย nattachat_c
4 ม.ค. 2567
51 views
เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.67) เวลา 14.00 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ว่า หากเราอยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ งบประมาณนี้จะเป็นตัวบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในภาวะแบบใด และจะจัดสรรงบประมาณแบบใดเพื่อแก้วิกฤต รวมถึงต้องดูประมาณการว่าใช่วิกฤตหรือไม่ ซึ่งหากดูจากเล่มขาวคาดม่วงที่เป็นรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง จะพบว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะโต 2.5% และปี 2567 จะโต 3.2% เงินเฟ้อปี 2566 อยู่ที่ +1.4% ปี 2567 อยู่ที่ +2.2% ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2566 อยู่ที่ +1.4% และปี 2567 อยู่ที่ +1.5% ดูอย่างไรก็ยังไม่วิกฤต แต่กลับไปเจอในเล่มงบประมาณสำหรับประชาชน ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณที่มีตัวเลข GDP ที่โต 5.4% นี่เป็นผลการเติบโตของ GDP ที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกลับพยายามโชว์ตัวเลขที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับรัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมาย GDP โต 5% ในปีแรกที่เข้ามาบริหารประเทศโดยการโกงสูตรปรับ GDP เช่นนั้นหรือ ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกทำมาก่อน ขอร้องว่าอย่าโกงสูตรเพื่อให้ GDP โต
น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ปกติในปีที่เกิดวิกฤต เราจะทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เพราะต้องมีการกู้เพิ่ม เนื่องจากต้องไปชดเชยรายได้ที่หายไปและใช้เม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อดูงบขาดดุลปี 2567 ต้องมีการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 3.6% ของ GDP ในขณะที่ GDP บอกจะโต 3.5% แต่เมื่อดูปีถัดไปจะพบว่าขาดดุลเท่ากันทุกปี จนดูไม่ออกว่าปีไหนวิกฤตกันแน่ และเราจะเกิดวิกฤตต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2570 เลยหรือไม่ ทำไมรัฐบาลจึงประมาณการว่าเราจะขาดดุลสูงถึง 3.4% ไปเรื่อยๆ ทั้งที่พรรคเพื่อไทย เคยประกาศไว้ว่าจะทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 7 ปี คือจะไม่กู้เลยสักปี แต่กลับทำงบขาดดุลไว้คือจะกู้ทุกปี ปีละ 3.4%
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า เมื่อมีวิกฤตก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาลคือดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่เพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ว่ามีแพคเกจใหญ่ 6 แสนล้านบาทที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ให้ 50 ล้านคน และเติมให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 1 แสนล้านบาท โดยเอาเงินมาจาก 2 แหล่ง คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายอีก 1 แสนล้านบาท แต่งบดิจิทัลวอลเล็ตกลับไม่ปรากฏเลยสักบาท
ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ กลับลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์จากที่โฆษณาไว้ว่า 1 แสนล้าน กลับลดเหลือเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้น และเพิ่งเพิ่มมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 หลังจากปรับปรุงงบ ครั้งที่ 1 แต่ชัดเจนว่ายังคงไม่สามารถหาเงินมาใส่ให้เต็ม 1 แสนล้านบาทได้เลย ทั้งที่ไปตัดงบประมาณที่ต้องใช้คืนหนี้ ธอส.แล้ว ตกลงเราจะยังสามารถเชื่ออะไรได้อีก จากคำพูดของนายกรัฐมนตรีได้อีก สรุปเราจะยังต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านจะสามารถออกได้หรือไม่ และเรายังต้องลุ้นพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้อย่างเดียวแล้วใช่หรือไม่ สรุปยอดกู้ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็น 585,000 ล้านบาทแล้วหรือไม่ เพื่อทำทั้งดิจิทัลวอลเล็ตและกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ตามที่สัญญาเอาไว้ วันนี้เราจะได้ยินจากรัฐบาลและกฤษฎีกาหรือไม่ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้หรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า คิดว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ เหมือนกับเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว ดังนั้น มีความเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ได้ เท่ากับงบกระตุ้นเศรษฐกิจของเรากลายเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์ นอกจากนี้ ยังมีงบกระตุ้นเศรษฐกิจอีกคือ งบกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สิน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การพักหนี้เกษตรกร สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SME และมหกรรมแก้หนี้ แต่เมื่อดูเรื่องการพักหนี้เกษตรกร พบว่า ใช้เงินไปแล้ว 11,000 ล้านบาท และไม่ได้ใช้งบปี 2567 แต่กลับไปใช้เงินจาก ธ.ก.ส. // ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SME เป็นงบที่ตั้งไว้ใช้สำหรับใช้หนี้ออมสิน และเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราจะเอามาเคลมด้วยใช่หรือไม่ ขณะที่การลดรายจ่ายด้านพลังงาน ที่ผ่านมาลดค่าไฟฟ้าไป ยังไม่ได้ควักกระเป๋าจากงบประมาณสักเท่าไหร่ เพิ่งมีใช้งบกลางไปประมาณ 1,950 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนราคาน้ำมันไปลดกองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิต แต่รัฐบาลเคลมโครงการลดค่าไฟบัตรคนจนหรือบัตรประชารัฐ ซึ่งโครงการนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2565 แล้วจะมากระตุ้นอะไรกันตอนนี้ และยังมีการใส่โครงการติดโซลาร์เซลล์ให้ที่ว่าการอำเภอ บอกจะลดค่าภาระค่าใช้จ่ายได้ แต่นั่นกลับเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้รัฐบาลไม่ใช่ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการตัดถนนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอีก 7,700 ล้านบาท สรุปแล้ววิกฤตเช่นไร เราจึงกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้
“อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ กระทรวงกลาโหมจะตัดลดงบของตนเองลงเพื่อนำไปพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่วิกฤตของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ครั้งนี้ งบประมาณของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2% แม้รัฐบาลปัจจุบันมีเวลารื้องบปี’67 ถึง 2 รอบ แต่คงต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย เพราะมีแผนซ้อนแผน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของตนเองได้ง่าย และยังมีมรดกของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่ไม่ยอมปฏิรูปงบประมาณ ทำให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณของตนได้ไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะติดประเด็นรายจ่ายบุคลากร, ชำระหนี้ 4 หมื่นล้านบาท, เงินชดใช้เงินคงคลัง 1.1 แสนล้านบาท, งบผูกพัน 3.6 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลก่อนหน้าเป็นผู้ดาวน์ และรัฐบาลของนายเศรษฐาต้องผ่อนต่อ”
น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า การจัดสรรงบประมาณมีข้อผิดพลาด คือ เพื่อเงินชดใช้เงินคงคลัง 1.2 แสนล้านบาท เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาถูกนำมาใช้เพื่อจ่ายในส่วนของรายจ่ายบุคลากร เช่น เงินเดือนบุคลากร บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ ในปี 2567 พบว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังจะทำผิดพลาดซ้ำรอย เช่น เงินบุคลากร ที่ควรตั้งไว้ 3.6 แสนล้านบาท กลับตั้งไว้ 3.3 แสนล้านบาท เงินบำนาญ 6,000 ล้านบาทที่ไม่ตั้งไว้ ซึ่งตนสงสัยในความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ตนเคยถามกรมบัญชีกลางขอไปเพียงพอจะจ่าย แต่การจัดสรรไม่เพียงพอ ถือเป็นความตั้งใจที่ตั้งขาดเพื่อหาเงินชดเชยภายหลัง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ โดยไม่ตั้งงบประมาณที่เพียงพอ ซอฟต์เพาเวอร์ 5,000 ล้านบาท ไม่พบการตั้งไว้ คงต้องควักจากงบกลาง รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ไม่ตั้งชดเชยไว้ สงสัยต้องดึงจากงบกลาง ทั้งนี้ งบกลางตั้งไว้ 9.8 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาแล้วเชื่อว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งการตั้งงบขาดดุล ไม่มั่นใจว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับการประมาณการรายได้ เชื่อว่าจะคาดการณ์ผิดพลาด และจัดเก็บไม่ตรงตามเป้าหมาย เพราะนายเศรษฐาเคยระบุว่า จะไม่เก็บภาษีขายหุ้น ดังนั้น คำถาม คือ รายได้จากส่วนดังกล่าวที่กำหนดไว้ 1.4 หมื่นล้านบาทจะหาจากที่ไหน ตนไม่มีปัญหากับสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อรายได้รัฐ ที่อาจจะหายไป 1 แสนล้านบาท หากรัฐบาลฝากความหวังไว้ที่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรผิดพลาด ดังนั้น ตนขอให้พูดความจริงกับสภาและประชาชน
สำหรับหนี้สาธารณะมีประเด็นที่ต้องกังวล คือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เพราะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประมาณการจากกรอบการคลัง ซึ่งภาระดอกเบี้ยต้องเบียดบังงบประมาณแต่ละปี และหนี้ที่จะเกิดขึ้นไม่รวมกับหนี้ดิจิทัลวอลเล็ต และหนี้ที่ยืมจากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ 1 ล้านล้านบาท โดยเวลาที่รัฐบาลบริหารงานมา 3 เดือนใช้เต็มเพดานแล้ว
“สรุปแล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดิฉันไม่เห็นอะไรนอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ ขึ้นชื่อเรื่องหาเงินได้ ใช้เงินเป็น แต่กลับผิดพลาดในการบริหารงบประมาณมากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ ทั้งจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ประมาณการรายได้ก็ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัยและไม่คิดที่จะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ ไม่สนใจภาระทางการคลัง และถึงเวลาที่ประชาชนคงต้องคิดใหม่กับฝีมือการบริหารราชการของพรรคเพื่อไทย” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
-------------
เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.67) เวลา 14.28 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า ข้อคิดเห็นทั้งหมดของสมาชิก ทางรัฐบาล ส่วนงานราชการ จะนำไปปฏิวัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงจุดใดที่เป็นจุดอ่อนที่สมาชิกมองไว้ เราก็รับเอาข้อสังเกตเหล่านั้นไปพิจารณา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นภาระของพวกเราทุกคนที่จะไปพิจารณาร่วมกันในชั้นคณะกรรมาธิการ เพื่อปรับแก้ ปรับลด และทำให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน และในส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เรารับไว้ ส่วนที่เป็นวาทกรรมตนขอไม่ตอบ เพราะเราเข้าใจบทบาทในสภา อะไรที่เกินเลยไปเล็กน้อยก็ถือว่ายกให้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเป็ดง่อย เรื่องแบ่งกินแบ่งใช้ เรารับฟังไว้ แต่เราเข้าใจกันดี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจและมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า งบประมาณเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า ถ้าท่านจะหานโยบายรัฐบาลแล้ว พยายามไปอ่านในเล่มงบประมาณสีขาวคาดแดงแต่ละเล่ม แล้วมาหาว่างบประมาณในส่วนแก้หนี้อยู่ตรงไหน การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บางครั้งมันมองไม่เห็น และไม่มีรายการที่เป็นชื่อเช่นนั้นปรากฏอยู่ แต่กลไกเรื่องของการใช้งบ ต้องเข้าใจว่างบเหมือนกับเป็นค่าใช้จ่ายของแอดมิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของรัฐบาลในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และต้องเข้าใจด้วยว่างบประมาณแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ก็แค่ 1 ใน 6 ของตัวเลขจีดีพี เป็นกลไกที่สำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่มีกลไกในการผลักดันนโยบายที่มากกว่างบ เราใช้งบในการขับเคลื่อนนโยบายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่มีนโยบายอีกมากมายที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินจากภาครัฐ เช่น การลดราคาพลังงาน เป็นกลไกที่เราสามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงการทำประชามติ ถ้าจะมาหาในเล่มงบก็ไม่ปรากฏ ดังนั้นเข้าใจกลไกการทำงบด้วย ยืนยันว่าหากมีการเดินหน้าทำประชามติ รัฐบาลมีงบเพียงพอรองรับกลไกที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เช่น ใช้งบกลาง
ส่วนที่ระบุว่า งบประมาณฉบับนี้ไม่แตกต่างไปจากงบของรัฐบาลก่อนหน้า เป็นการรับมรดกของรัฐบาลชุดก่อนหน้า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ มีการส่งมอบภารกิจบางอย่างซึ่งมันต่อเนื่องมา โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณผูกพัน เราไม่สามารถไปปรับลดได้ อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำงบ’67 รัฐบาลมีการปรับแก้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันให้มากที่สุด และสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ไขฝุ่นพีเอ็ม2.5 การพัฒนาระบบสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น
ส่วนงบกลาง เพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น สอดคล้องกับนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดสัดส่วนงบกลางอยู่ในระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 3.5 เปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในปีก่อนหน้าตั้งงบกลางไว้ 9.24 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนงบ แต่ปีนี้เนื่องด้วยกรอบของงบ ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.48 ล้านล้านบาท งบกลางจึงขยับเพิ่มมาเป็น 9.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนน้อยลง 2.83 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชน ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ไม่ปรากฏอยู่ในงบ’67 นั้น เนื่องจากปรับเปลี่ยนเรื่องแหล่งที่มาของเงิน เพื่อสร้างความโปร่งใส ใช้แหล่งเงินจากภายนอกเข้ามา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย จึงไม่เห็นงบส่วนนี้ในงบรายจ่ายปี’67 เพราะเราใช้งบจากการกู้เงิน
-------------
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท มาถึงเวลา 17.20 น. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตรงปก เช่น จากธนาคาร ธ.ก.ส. ที่บอกว่าเป็นแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ฟังแล้วน่าปลาบปลื้ม แต่เมื่อมาดู กลับเป็นงบสอดไส้การชดเชยเงินต้นและดอกเบี้ยกว่า 48,000 ล้านบาทให้กับโครงการในอดีตตั้งแต่ปี 2552 และโครงการเพิ่มรายได้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นการใช้หนี้เดิม 13,260 ล้านบาท ซึ่งตนสงสัยว่าจะเป็นมูลค่าในอดีต
“ท่านประธานจำโครงการหนึ่งในปี 2554 ได้หรือไม่ คือ โครงการจำนำข้าวสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ก่อภาระหนี้ผูกพันจนถึงวันนี้ก็ยังใช้ไม่หมด งบประมาณปี 67 ต้องจัดสรรมาใช้หนี้โครงการจำนำข้าวที่เกิดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งการจัดสรรงบแบบนี้ที่เอาอดีตมาเบียดบัง สอดไส้ทำให้งบที่พัฒนาเกษตรจึงต้องลดน้อยลง” นายชัยวัฒน์ ระบุ
ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า นายชัยวัฒน์อภิปรายถึงโครงการจำนำข้าว ตนก็ตกใจว่าอยู่พรรคก้าวไกล หรือ กปปส.กันแน่ ตัวนโยบายต้องย้อนไปในอดีต ว่าในวันนั้นเกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้มีความเข้มแข็ง ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอีกครั้ง ดังนั้นเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์
ทำให้นายชัยวัฒน์ใช้สิทธิพาดพิง ว่า ตนเพียงพูดถึงข้อเท็จจริงว่า หนี้ที่รัฐบาลต้องใช้จากโครงการจำนำข้าวในอดีต ที่ปัจจุบันยังเหลือหนี้คงค้างจำนวนมาก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กปปส.หรือใครอย่างที่นายจุลพันธ์ระบุ
------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Dq6XZtV1rHM