เศรษฐกิจ
คลังเตรียมเสนอ ‘อีซี่ อี-รีซีท’ เข้าครม.สัปดาห์หน้า ย้ำอยากเห็นเงินเฟ้อโต 2%
โดย thichaphat_d
20 ธ.ค. 2567
114 views
วานนี้ 19 ธ.ค. 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงินกรุงเทพฯ ส่งท้ายปี ครั้งที่ 7 “Money Expo Year End 2024” พร้อมเปิดเผยว่า เตรียมเสนอมาตรการ Easy E-Receipt (อีซี่ อี-รีซีท) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ในสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการตามการใช้จ่ายจริงสูงสุด 50,000 บาทต่อคน
ซึ่งนายพิชัยกล่าวแต่เพียงว่าแบ่งเป็น 30,000 กับ 20,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นลักษณะเดียวกับปีก่อนหน้า คือสามารถลดหย่อนภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงสุด 30,000 บาท และรูปแบบกระดาษได้ 20,000 บาท และคาดว่าจะเริ่มมีผลได้ในต้นเดือนมกราคมปีหน้าซึ่งนายพิชัยบอกว่าก็น่าจะยังใช้จ่ายคึกคักอยู่
สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายยืนยันคำเดิมว่าก็เป็นไปตามการพิจารณาของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ การเห็นเงินเฟ้อปรับขึ้นมาบ้างโดยเข้าสู่จุดกึ่งกลางนั่นก็คือที่อัตรา 2% จากกรอบนโยบายเงินเฟ้อของธปท. 1-3% ซึ่งก็แล้วแต่คณะกรรมการพิจารณา ไม่ใช่แบบประเดี๋ยวประด๋าว แต่ต้องต่อเนื่องค่าเงินมีเสถียรภาพและแข่งขันในภาคการส่งออกได้
เมื่อถามว่าค่าเงินบาทตอนนี้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้หรือไม่นายพิชัยตอบว่า ต้องพิจารณาค่าเงินและนโยบายการเงินของประเทศคู่ค้าในสินค้าเดียวกันที่แข่งขันอยู่ ซึ่งต้องดูกันไปยาวๆ ไม่ใช่แค่ระยะสั้น 3 เดือน เช่นเดียวกับที่นักวิเคราะห์หลายคนออกมาบอกว่าสามารถบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทอ่อนกว่านี้ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ก็อยู่ในข้อตกลงที่หารือกันระหว่างกระทรวงการคลังกับธปท. ซึ่งจะนำไปสู่การลงนาม MOU เรื่องกรอบเงินเฟ้อ ที่เตรียมจะเข้าสู่ที่ประชุมครม. ส่วนการกำหนดนโยบายเงินเฟ้อให้ตัวเลขเดียวที่ 2% ธปท. ออกมาบอกแล้วว่าบริหารจัดการยาก จึงได้ข้อตกลงว่าให้บริหารเงินเฟ้อให้เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ แต่ถึงแม้ธปท. จะไม่สามารถบริหารจัดการให้ใกล้เคียง 2% ได้ ก็ไม่ได้มีกฎหมายบังคับคงทำได้เพียงแค่การหารือกัน
ทั้งนี้มองว่าในระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันมีผลต่อผู้ประกอบการและประชาชนรายย่อยมากกว่า ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงพอใจในระดับที่เป็นอยู่ ไม่ได้ผูกอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก ฉะนั้นต้องหาทางให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าดอกเบี้ยที่ต่ำได้ รายย่อยที่มีมีวินัยดีก็ต้องเข้าไปดูเป็นพิเศษ ซึ่งเชื่อว่าจะมีมาตรการหลายอย่างเข้าไปช่วยเพิ่มเม็ดเงินในเศรษฐกิจ ต้องรอดูผลจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ล่าสุดที่ออกไปซึ่งเห็นว่ามีผู้มาลงทะเบียนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สนใจตอนนี้คือการส่งออกซึ่งผูกกับการท่องเที่ยวด้วยนั่น ก็คือมาตรการอะไรก็ตามที่ทำให้ค่าเงินของไทยแข่งขันได้ สำหรับมาตรการทางการคลังที่เข้าสู่ภาวะตึงตัวมองว่าก็ยังมีช่องทางขยายพื้นที่อยู่ หากเป็นด้านการลดงบประมาณใช้จ่ายก็คงต้องดูที่รายจ่ายประจำ แต่รายจ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคงไม่สามารถไปลดลงได้ อีกทางหนึ่งคือหากเศรษฐกิจเราดีคือเพิ่มจากที่เคยโต 1.9% ไปสู่ระดับ 3.5% บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ก็จะทำให้มีช่องทางของการใส่มาตรการทางการคลังเพิ่มขึ้นได้ ส่วนว่าปีหน้ามาตรการทางการเงินจะต้องขึ้นมาเป็นกองหน้าหรือไม่นั้น มองว่าปัจจุบันการพิจารณานโยบายทางการเงินก็มีความถี่อยู่ เชื่อว่าธปท.จะคอยติดตามผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/8IqsNJPzbSw