สรุปข่าว

เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง 22 ธ.ค.66 สภาฯ รับหลักการสมรสเท่าเทียม-จ่ออุทธรณ์เพิ่มโทษลุงพล-นัดพิสูจน์อาการป่วยทักษิณ

โดย thichaphat_d

22 ธ.ค. 2566

36 views

1.ลุงพล-ป้าแต๋น ทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญ โต้พยานปากเอกแม่ชมพู่ ยืนยันไม่เคยขู่ทำร้าย

2.แม่น้องชมพู่ เตรียมอุทธรณ์เพิ่มโทษลุงพล เล็งเอาผิดข้อหาฆ่าคนโดยเจตนาเล็งเห็นผล

3.ตำรวจชุดทำคดีน้องชมพู่ เผยแรงจูงใจ เพราะผู้ใหญ่บางคนจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้

4.คุมตัวอนาวิน มือยิงน้องหยอด-ครูเจี๊ยบ ทำแผน 9 จุด ฝากถึงรุ่นพี่รุ่นน้อง ขอให้จบที่รุ่นเรา

5.สสจ.แจงปมสาววัย 25 เสียชีวิตหลังไปถอนฟัน 2 ซี่ ยืนยันเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

6.หวิดสิ้นชีพ ซื้อพลุ 2 ลัง เตรียมจุดฉลองปีใหม่ ระหว่างทางพลุระเบิดเผารถวอดทั้งคัน

7.อาม่าวัย 84 ปี ถูกลูก 4 คนทอดทิ้ง บ้านถูกตัดน้ำตัดไฟ ป่วยโรคประจำตัวไร้คนดูแล



เรื่องเล่าการเมือง

- รมว.ยุติธรรม โบ้ยรัฐบาลลุงตู่ ปมส่งทักษิณ นอน รพ.


ประชุมสภาเมื่อวาน สส.ก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามกรณีเรื่องนายทักษิณ มานอนอยู่ รพ.แทนคุกเกิน 120 วันแล้ว รัฐมนตรียุติธรรม ทวี สอดส่อง บอกว่านายทักษิณมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในยุครัฐบาลประยุทธ์ การส่งนายทักษิณเข้า รพ. รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้รับรู้ด้วย

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงกรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน

ประเด็นสำคัญที่ น.ส.ชลธิชา ถามคือ

นายทักษิณ ได้รับการส่งตัวไปรักษาพยาบาลตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่เรือนจำ ขณะนี้เป็นเวลาเกินกว่า 120 วันแล้ว ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังเพียง 4 คนเท่านั้นที่ได้รับการรักษานอกเรือนจำมาเกินกว่า 120 วัน จึงต้องการสอบถามเกณฑ์พิจารณาส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาด้านนอกเรือนจำ

เหตุใดจึงให้นายทักษิณ เข้ารับการรักษา ณ ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นห้องพักพิเศษแยกจากห้องพักผู้ป่วยทั่วไปและ เรื่องระเบียบของกรมราชทัณฑ์เรื่องการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายระเบียบนี้มีจำนวนเท่าใด และครอบคลุมผู้ต้องขังคดีประเภทใดบ้าง

พ.ต.อ.ทวี ลุกขึ้นตอบ โดยเริ่มชี้แจงว่า นายทักษิณ เดินทางเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระบวนการของนายทักษิณนั้น เป็นกระบวนการแรกที่รัฐบาลนี้ไม่ได้รับรู้ แต่ต้องรับรู้ตามข่าวเหมือนประชาชน

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงอีกว่า ส่วนเรื่องที่นายทักษิณ รักษาตัวอยู่ หากมีการรักษาพยาบาลเกินกว่า 120 วัน จะต้องมีหนังสือของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมความเห็นแพทย์ผู้รักษา และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รายงานให้รัฐมนตรีทราบ รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้อนุมัติ แต่ถึงล่าสุดยังไม่มีการส่งเอกสารมาที่ตน ยืนยันว่า มีนักโทษอื่นที่ป่วยและดำเนินการแบบนี้จำนวนมาก / สำหรับการอยู่ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ก็ไม่ใช่ชั้นพิเศษ



-กมธ.ตร.นัด 12 ม.ค. บุกรพ.ตำรวจ พิสูจน์อาการป่วยทักษิณ

กรรมาธิการตำรวจ ของสภา ยังเดินหน้าตรวจสอบกรณีนายทักษิณ ต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และมีมติวันที่ 12 ม.ค.นี้ จะเดินทางไปชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อพิสูจน์ ทั้งอาการป่วย และมีการรักษาตัวอยู่จริงหรือไม่

เมื่อวานนี้ คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย คุณชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ยังคงเดินหน้าตรวจสอบกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่อง ว่ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ จริงๆ เมื่อวานนี้ได้เชิญ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ พ.ต.อ.ทวี ได้มอบหมาย ให้นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาชี้แจงแทน

นอกจากนี้ยังมี ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตัวแทนโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องเข้าร่วมด้วย โดยนายชัยชนะ ได้อนุญาตให้นายวัชระ อภิปรายก่อนให้ผู้สื่อข่าวออก และเริ่มการประชุมเป็นการภายใน

นายวัชระ ได้ขอให้กรมราชทัณฑ์ นำคลิปวิดีโอตั้งแต่วันแรกที่นายทักษิณ เข้าเรือนจำวันแรก รวมถึงภาพถ่ายที่โรงพยาบาลตำรวจ มาส่งให้กับคณะกรรมาธิการ

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลว่า นายทักษิณ ตั้งแต่เข้าเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ไม่ได้ลงทะเบียนประวัตินักโทษ เหมือนกับผู้ต้องขังทั่วไป จึงถามเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่ามีข้อยกเว้นอะไร และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งกรรมการสอบสวน

หลังประชุมเสร็จ นายชัยชนะ ออกมาให้สัมภาษณ์ ก็บอกว่า เรื่องใบกรอกประวัตินักโทษ ทางกรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า นายทักษิณ ได้กรอกข้อมูลเบื้องต้นทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วก่อนเข้ารับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างถูกต้อง และจะรวบรวมส่งเอกสารให้ต่อไป

ขณะที่ภาพรวม บอกว่า มีประเด็นที่ยังไม่หายสงสัยเรื่อง 2 มาตรฐาน และระบุว่ากรรมาธิการได้มีมติ จะเดินทางไปที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ วันที่ 12 ม.ค.นี้เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงกรณีนายทักษิณ ให้สังคมหายข้อสงสัย แต่หากโรงพยาบาลตำรวจไม่อนุญาต ก็ต้องตอบให้ได้ว่าเพราะอะไร มีเหตุผลอะไรบ้าง



-ภูมิธรรม ย้ำทักษิณ อยู่ รพ. ขึ้นอยู่ดุลยพินิจแพทย์ อย่าโยงการเมือง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พูดถึงกรณีที่ครบ 120 วัน การรักษาตัวของคุณทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า หลังจากนี้แพทย์จะลงความเห็นว่า จะสามารถรักษาตัวต่อได้หรือไม่ และยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการ และระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่

ส่วนเรื่องระเบียบการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ นายภูมิธรรม ย้ำว่าไม่อยากให้หยิบยกมาเป็นประเด็นการเมือง เพราะระเบียบนี้ มีตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำ ไม่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ไม่มีใครไปเกี่ยวข้อง หรือแทรกแซง ก็บอกว่า "นายทักษิณ เข้ามาตามกระบวนการยุติธรรม ด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น” ดังนั้นยืนยันไม่ใช่เรื่องของ 2 มาตรฐาน แต่เป็นไปตามหลักสากล

นายภูมิธรรม ระบุว่า "หากคิดว่าทุกอย่างเป็นการเมือง ประเทศคงไม่สงบสุข จึงอยากให้ใจกว้าง เชื่อมั่นในกระบวนการของแพทย์ที่จะต้องวินิจฉัยอย่างดีที่สุด และหลีกห่างจากความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าได้"


-สภาฯ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของรัฐบาล - ฝ่ายค้าน - ปชช.

อีกเรื่องสำคัญในการประชุมสภาผูัแทนราษฎรเมื่อวาน คือ สภามีมติรับหลักการ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระแรกแล้ว

ในการประชุมสภาช่วงบ่ายเมื่อวาน มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (ชื่อทางการ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 3 ฉบับ พิจารณารวมกัน คือ

-ร่าง พ.ร.บ. ของ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ

-ร่าง พ.ร.บ. ของ น.ส.อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน

-และ ร่าง พ.ร.บ. ของนายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน รวมถึงคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ และรัฐบาล ในการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างหลักประกันบุคคลทุกคนได้รับสิทธิก่อตั้งครอบครัวอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และส่งเสริมภาพลักษณ์ในสิทธิมนุษยชน สร้างความเชื่อถือต่อประชาคมโลก รวมถึงขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยลักษณะทางเพศ

ขณะที่ช่วงหนึ่งที่ ครูธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกลลุกขึ้นอภิปรายหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายนี้ ครูธัญถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเอง

หลังเปิดให้ สส.อภิปรายกันอย่างกว้างขวางที่สุด ที่ประชุมสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายนี้ในวาระแรก ด้วยคะแนนรับหลักการ 369 เสียง / ไม่รับหลักการ 10 เสียง

และต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ทวีตแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ว่า “ผมขอแสดงความยินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ทุกท่านที่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนท่วมท้น วันนี้ ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นแล้วครับ”


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/_Oho7gXkpdE

คุณอาจสนใจ

Related News