เลือกตั้งและการเมือง

‘อนุดิษฐ์’ ชี้ ระเบียบขังนอกคุก เริ่มตั้งแต่สมัย รัฐบาลบิ๊กตู่ อย่าโยงการเมือง ทำผู้ต้องโทษที่เข้าเกณฑ์เสียสิทธิ์

โดย attayuth_b

21 ธ.ค. 2566

77 views

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 ว่า อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นผู้ต้องขัง และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า เท่าที่ได้ติดตามและหาข้อมูลประกอบก็พบว่า ระเบียบราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 เป็นการออกระเบียบตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง อีกทั้งการกำหนดให้สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขัง ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้สถานที่อยู่อาศัยเป็นที่คุมขัง เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 ลงวันที่ 25 ก.ย.63 ที่ออกและให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุต่อว่า การควบคุมในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะถูกใช้ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2550 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 และ 89/2 โดยให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งให้ผู้ต้องขังไปคุมขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำได้ กรมราชทัณฑ์ เพิ่งออกระเบียบเพื่อใช้หลักเกณฑ์นี้หลังจากที่ศาลใช้มาแล้วถึง 16 ปี ส่วนในต่างประเทศใช้มานานแล้ว และที่ตั้ง รองอธิบดี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพราะเป็นระเบียบของกรมซึ่งมี อธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

“หากดูที่มาที่ไปของระเบียบราชทัณฑ์ รวมถึงตัวกฎหมายราชทัณฑ์ ปี 2560 ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น ก็จะเห็นว่า กระบวนการทั้งหลายต้องถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งกระบวนการต่างๆ ก็เกิดในช่วงรัฐบาล คสช. รวมไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะมาถึงรัฐบาลชุดนี้ด้วย”

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตามบทบัญญัติ มาตรา 33 ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 กำหนดให้มีสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังอันเป็นไปตามหลักทัณฑวิทยา เพราะการบริหารโทษผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิด ลักษณะของความผิด และความรุนแรงของคดีจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังและทำให้การได้รับพระราชทานอภัยโทษมีประสิทธิภาพ ทำให้มีเฉพาะผู้ที่สมควรเท่านั้นที่จะได้รับการลดโทษ หรือปล่อยตัวสู่สังคมต่อไป จึงต้องมีการจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังเพื่อการจำแนกและแยกคุมขังทั้งในเรือนจำและสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดให้สถานที่ใดที่มิใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขังให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ดังนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.ย.63 รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น จึงได้ออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 กำหนดให้สถานที่อยู่อาศัยและสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่น สถานศึกษา วัด มัสยิด หรือโรงพยาบาล เป็นสถานที่คุมขัง จากนั้น เมื่อวันที่  6 ธ.ค.66 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 กำหนดให้มีคณะทำงาน 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานของเรือนจำเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังและข้อเท็จจริงของแต่ละเรือนจำ เพื่อเสนอต่อคณะทำงานของกรมที่มีรองอธิบดีเป็นประธานคณะทำงาน พิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้ต้องขังที่แต่ละเรือนจำเสนอมาว่าสมควรที่จะใช้วิธีคุมขังในสถานที่คุมขังที่มิใช่เรือนจำหรือไม่ แล้วเสนอต่ออธิบดีเพื่ออนุมัติ

“ดังนั้น ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาจึงเป็นเพียงเพื่อแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และกฎกระทรวงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2560 และ 2563 ตามลำดับ มิได้สร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่เพื่อเอื้อผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า ที่ติดตามเรื่องนี้ก็เพราะเห็นว่า มีความพยายามโยงเรื่องให้เป็นประเด็นการเมืองในกรณีของ นายทักษิณ จนอาจส่งผลให้กฎหมาย และระเบียบที่ปรับปรุงให้มีความทันสมัย และเป็นไปตามหลักสากล จะไม่ได้ถูกใช้ตรงตามเจตนารมณ์ กระทบผู้ต้องโทษคนอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาตามระเบียบที่อาจจะเสียสิทธิในส่วนนี้ไปด้วย  เท่าที่ทราบ ทาง กรมราชทัณฑ์ ส่งหนังสือแจ้งรายละเอียด และแนวทางปฏิบัติไปยังเรือนจำและทัณฑสถาน 144 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ในแต่ละเรือนจำได้พิจารณาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และรวบรวมรายชื่อ เสนอมายังกรมราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.66 แต่ถึงขณะนี้การดำเนินการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะถูกวิพากษวิจารณ์อย่างหนัก

คุณอาจสนใจ

Related News