สังคม

เห็นชอบตั้ง 3 คณะทำงาน ทบทวน EIA ศึกษาผลกระทบโครงการผันน้ำยวม

โดย panwilai_c

19 ธ.ค. 2566

47 views

เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพัน หรือโครงการผันน้ำยวม ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบที่จะตั้งคณะทำงาน 3 ชุด ในการทบทวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ที่นักวิชาการมองว่ายังไม่คุ้มค่าและมีความเสี่ยงทางกฏหมาย ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ยืนยันข้อมูลในอีไอเอไม่ถูกต้องและถูกนำภาพไปใช้อ้างในอีไอเอ ถือเป็นการละเมิดสิทธิและกระทบกับประชาชนพื้นที่ต้นน้ำ



ชาวบ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยืนยันข้อมูลในการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ ผศ.ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรี เชิญผู้เกี่ยวข้องมาเสนอความเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล หรือ โครงการผันน้ำยวม ซึ่งชาวบ้านแม่เงา ที่จะเป็นสถานีสูบน้ำและชาวบ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอุโมงค์ผันน้ำยวม ยืนยันว่าข้อมูลในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปแล้วน้ัน ไม่ตรงข้อเท็จจริงทั้งเรื่องวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ระบบนิเวศน์ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการรักษาป่าจนมีรายได้ หากมีการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ ชาวบ้านก็จะกระทบอย่างแน่นอน และยังมีสถานที่ประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ตรงกว่า 100 ปี ไม่ใช่กว่า 10 ปีตามที่รายงานในอีไอเอ จำนวนผู้ได้รับผลกระทบไม่ตรงกัน และมีการนำภาพที่มีการพบปะในการร้านลาบ และการลงพื้นที่พบชาวบ้าน มาใส่ไว้ใน EIA โดยไม่ได้ขออนุญาต ทำให้มีการเรียกว่าเป็น EIA ร้านลาบ



ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยด้วยว่าผลการวิจัยยังยืนยันถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของชาวบ้านที่มาจากผลผลติป่า และสวนลำไย ที่สวนทางกับการศึกษาใน EIA ขณะที่นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวว่า การทำรายงานอีไอเอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและการนำภาพที่ไม่ได้รับอนุญาต มาใช้ยังผิดกฏหมาย PDPA จึงควรทบทวน ซึ่งที่ประชุมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคประชาสังคมและนักวิชาการก็เห็นด้วยเรื่องนี้ โดยเฉพาะความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ จากงบประมาณที่ใช้ตั้งแต่ 7 หมื่นล้านบาท ถึงกว่า 1 แสนล้านบาท และการผลักดันให้เป็นโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน หรือ PPP อาจผิดเป้าหมายของกรมชลประทาน และอาจเสี่ยงกฏหมายที่หากโครงการนี้เกิดขึ้นอาจต้องมีผู้รับผิดชอบกับความผิดพลาดได้ และอาจไม่คุ้มค่ากับเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มปริมาณต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้ในการเกษตรเช่น การปลูกข้าวนาปรัง การไม่คุ้มค่ากับผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต



ผศ.ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหน้า ที่ปรึกษา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจะตั้งคณะทำงานมา 3 ชุดในการทบทวนอีไอเอ ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความคุ้มค่าในการลงทุนของรัฐ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งโครงการผันน้ำยวมทางกรมชลประทานยังไม่เสนอคณะรัฐมนตรี ยังต้องนำเข้าที่ประชุม กนช.และ สทนช. ทำให้ยังมีเวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ

คุณอาจสนใจ

Related News