เลือกตั้งและการเมือง

‘พัชรวาท’ ดึงหน่วยงานแหล่งกำเนิดฝุ่น ร่วมวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหา-ออกมาตรการรับมือฤดูฝุ่นจิ๋ว

โดย attayuth_b

13 ธ.ค. 2566

21 views

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในหลายพื้นที่และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน  โดยได้สั่งการไปยัง นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้เร่งรัดประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว การถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นระบายออกยาก จึงทำให้ค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล แหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญคือภาคจราจรและขนส่ง ทำให้ค่าฝุ่นแตะเกินค่ามาตรฐานสีส้ม ในอนาคตจะเริ่มมีการเผาในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ยิ่งทำให้ค่าฝุ่นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นอีก หากควบคุมไม่ได้ในปัจจุบัน สำหรับพื้นที่ กทม.ที่เกิดฝุ่นพิษจากจราจรและการขนส่งนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรณรงค์ให้เข้มข้น เรื่องการหันมาใช้น้ำมันยูโร 5 โดยที่ไทยเริ่มปรับมาใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ผ่านมา ช่วยค่าฝุ่นในกทม.ลงได้ถึงร้อยละ 10 ควบคู่กับบำรุงรักษาเครื่องยนต์และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้ดี จะช่วยลดการเกิดฝุ่นลงได้มากถึงร้อยละ 50 ของรถคันดังกล่าว และได้รับการประสานข้อมูลจากจิสด้า เพื่อแยกแยะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ว่าเกิดจากการเผาป่าหรือภาคเกษตร เผานาข้าว ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งมายังกระทรวงฯ จากนั้นจะส่งไปยังจังหวัด เป็นซิงเกิ้ลคอมมานด์ ที่มีผู้ว่าราชการเป็นผู้สั่งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น เช่น มีข้อมูลจากจิสด้าระบุว่ามีการเผาไหม้นาข้าวในเขตจังหวัดภาคกลาง ทำให้ชี้เป้าจุดเกิดเหตุได้ และสั่งการแก้ไขในทันที

นายปิ่นสักก์  กล่าวว่า เราได้มีการตั้งศูนย์สื่อสาร ภายใต้คณะกรรมการสื่อสาร ที่มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน เพื่อให้สื่อสารว่าควรแก้ไขอย่างไร พื้นที่ไหน เวลาใด ขณะนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท  ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน กำลังทำเรื่อง เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและการสื่อสารรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“พล.ต.อ.พัชรวาท ได้วางระบบแนวทางแก้ปัญหาไว้ โดยมีอนุกรรมการและคณะทำงานวิชาการส่วนกลาง เพื่อวิเคราะห์ว่าปัญหาเกิดจากอะไร รวบรวมข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อให้มีมาตรการที่เหมาะสม และส่งข้อมูลให้ศูนย์ซิงเกิ้ลคอมมานด์ในระดับจังหวัด และระดับภาคที่มีแม่ทัพภาคเข้ามาช่วยแก้ปัญหา” นายปิ่นสักก์ กล่าว

อธิบดี คพ. กล่าวด้วยว่า  นอกจากแอปพลิชันที่ใช้ในการสื่อสารอย่าง Air4Thai กรุงเทพฯ แล้ว จะมี AirBKK ที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน จึงอยากให้ใช้ 2 แอพนี้เป็นหลัก เพราะจะมีการเตือนที่ถูกต้อง ซึ่งหากใช้แอปฯ อื่น อิงมาตรฐานประเทศอื่น ค่าสีจะไม่เท่ากัน อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ และจากความตระหนักอาจกลายเป็นความตระหนก เช่น มีการถามว่า กทม.สีแดงแล้วทำไมไม่เวิร์คฟอร์มโฮม ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้ว่าฯ กทม.เตรียมความพร้อมแล้วว่าจะต้องสีแดงต่อเนื่อง 3 วัน แต่ค่ามาตรฐานของไทยยังไม่สีแดง แต่พอเราไปใช้มาตรฐานประเทศอื่น ที่มีการแบ่งสี 6 ช่วง 6 เฉด ทำให้เกิดการตระหนกเกิดขึ้น เป็นต้น  





คุณอาจสนใจ

Related News