สิ่งแวดล้อม
ชาวเชียงรายจี้รบ. ยกเลิกสัญญาซื้อไฟฟ้า ร้อง 'เขื่อนปากแบง' สร้างผลกระทบวิถีชีวิตคนริมโขง
โดย panwilai_c
9 ธ.ค. 2566
121 views
โฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จัดงานฮอมปอยแม่น้ำโขง เพื่อรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง ที่ล่าสุดกำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบงในลาว ซึ่งไทยได้เซ็นต์สัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบกับประชาชนริมน้ำโขง จึงมีการเรียกร้องรัฐบาลทบทวนและยกเลิกสัญญาซื้อไฟฟ้าที่จะกระทบกับชุมชน เศรษฐกิจ และการสูญเสียดินแดนได้ ขณะที่ สส.พรรคก้าวไกล เสนอให้มีการยื่นตรววจสอบกับ สตง.และ ปปช.เพื่อผลักดันไปยังนายกรัฐมนตรี พิจารณาคดีอย่างรอบคอบ
วงเสวนาสถานการณ์แม่น้ำโขง เพื่อสิทธิที่เป็นธรรมในงานฮอมปอยแม่น้ำโขง ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ มีการแสดงความเป็นห่วงต่อการที่การำฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ได้ลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ใน สปป.ลาว ซึ่งมีเอกชนของไทยร่วมถือหุ้นในโครงการนี้สัญญาสัมปทานซื้อไฟฟ้า 29 ปี เริ่มผลิดไฟฟ้าได้ในปี 2576 แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งจะเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบ่ง ที่อยู่ห่างชายแดนไทย-ลาว ไปเพียง 97 กิโลเมตร ซึ่งทราบเพียงข้อมูลกรมทรัพยากรน้ำว่าระดับน้ำเหนือเขื่อนจะสูงขึ้นในระดับ 340 เมตร นั่นหลายความว่า ระดับน้ำโขงในไทยจะสูงขึ้น พื้นที่ริมฝั่งที่ อ.เวียงแก่น เช่น พื้นที่การเกษตรจะน้ำท่วม แหล่งท่องเที่ยวเช่นผาได จะจมบาดาล
นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ตลอดกว่า 25 ปีที่ต่อสู้ปกป้องแม่น้ำโขง ตั้งแต่เรื่องปักปันเขตแดนไทย-ลาว การสร้างเขื่อนในจีน และการสร้างเขื่อนปากแบง ที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นการศึกษาผลกระทบว่าจะคุ้มค่ากับการซื้อไฟฟ้าหรือไม่ เมื่อเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจในพื้นที่ หรือแม้แต่การชดเชยเยียวยาที่ดิน ซึ่งต้องยอมรับว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งทำกินมานานแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และยังห่วงการสูญเสียดินแดนด้วย
นายมานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ อ.เวียงแก่น ตั้งคำถามว่าการที่หน่วยงานรัฐไทยลงนามซื้อสัญญาไฟฟ้าโดยที่ยังไม่มีผลการศึกษาอย่างรอบด้านทำได้ด้วยหรือ และรัฐมีแนวทางเยียวยาประชาชนอย่างไร ยังไม่เคยมีคำตอบ รวมถึงผลกระทบกับแม่น้ำสาขาแม่น้ำโขง เช่นแม่น้ำอิง และแม่น้ำงาว จะกินพื้นที่การเกษตรหลายพันไร่ ถูกน้ำท่วมสูญเสียอาชีพไปด้วย
นายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลม่วงยาย อ.เวียงแก่น เชื่อมั่นว่า หากแก่งผาไดจมอยู่ใต้น้ำ จะกระทบถึงแม่น้ำโขง ในอ.เชียงของเกิดน้ำท่วมอย่างแน่นอน และพืชเศรษฐกิจของอ.เวียงแก่น กว่า 2 พันไร่ จะเสียหายไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐไม่เคยรับฟังปัญหา เท่าที่ฟังชาวบ้านที่มีข้อมูลก็จะไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนปากแบงและการซื้อขายไฟฟ้าจากลาว
นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีเขื่อนปากแดง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดนด้วย โดยเฉพาะเรื่องดินแดนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นางสาวเบญจา แสงจันทร์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส. พรรคก้าวไกล มาร่วมรับฟังเสียงของคนในพื้นที่เห็นว่า เขื่อนปากแบงเกี่ยวพันทั้งนโยบายพลังงานของไทย ที่ต้องติดตามด้วยว่าคุ้มค่าการลงทุนในการซื้อไฟฟ้าที่จะเริ่มผลิตได้อีก 10 ปีหรือไม่ และการที่มีการลงนามสัญญาซื้อขายก่อนมีการศึกาาผลกระทบ ก็อาจะเป็นการบกพร่องทางนโยบาย ที่นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบด้วย จึงเสนให้มีการตรวจสอบผ่านช่องทาง สต.และ ปปช. เชื่อว่าจะนำไปสู่การทบทวนสัญญาได้
สส.พรรคก้าวไกล ยังเตรียมนำการเสนอปัญหาจากผู้นำท้องถิ่น และเครือข่ายของประชาชนในพื้นที่ไปเสนอในคณะกรรมาธิการหลายคณะ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบไปถึงสิทธิเขตแดนด้วย
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนสถานทูตจีน นางหลี่ จิ้น เจียง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้มาร่วมรับฟังและกล่าวถึงนโยบายของจีนที่มีต่อแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำล้างช้าง ที่ร่วมมือกับ 5 ประเทศในการพัฒนา ซึ่งในจีนก็เจอปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จึงเห็นความสำคัญของแม่น้ำโขงที่เป็นแม่ของแม่น้ำ ที่ต้องช่วยกันพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงนักวิชาการไทยและต่างชาติ เช่น ศาสตราจารย์เกียติคุณ สุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ฟิลิปส์ รอริส จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เห็นว่าต้องมีการทบทวนโครงการของแม่น้ำโขงเพราะเกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงคุ้มค่าแล้วหรือไม่กับการสูญเสียทางนิเวศน์ สังคม เศรษฐกิจและสิทธิทางพรมแดน ที่รัฐต้องคิดอย่างรอบคอบ
แท็กที่เกี่ยวข้อง ชาวเชียงราย ,กระทบวิถีชีวิต ,ริมโขง ,สัญญาซื้อไฟฟ้า