ไลฟ์สไตล์

โบตั๋นเช็คอิน พาไปชม 'วัดนางกุย' จ.พระนครศรีอยุธยา ตามรอยละคร 'พรหมลิขิต'

โดย weerawit_c

25 พ.ย. 2566

81 views

โบตั๋นเช็คอิน 25 พ.ย.66 พาไปวัดนางกุย เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ด้านใต้ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตั้งอยู่เลขที่ 30 ม.5 ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จากหลักฐานที่กรมศิลปากรว่าสร้างในปี พ.ศ.2130 ผู้สร้างชื่อนางกุย เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทอง จึงได้มาสร้างวัดนางกุยอยู่ทางด้านทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ที่มีแม่นำไหลผ่านวัดนี้ในอดีตเจริญรุ่งเรืองมาก ดูจากหลักฐานที่มี อาทิ พระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ สมัยทวารวาดี ประมาณพุทธศตวรรษ 11 - 16 (พ.ศ.1100 - 1600)


หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี 2310 วัดนางกุยได้รับความเสียหายมาก และถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมจนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ได้มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในอยุธยา (ไม่ทราบ พ.ศ.ที่แน่ชัด) วัดนางกุยก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถและเสนาสนะ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ทางวัดฯได้ทำการขออนุญาตจากกรมศิลปากรในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถที่เสื่อมโทรมไปตาม กาลเวลา ภายในพระอุโบสถ วัดนางกุย ยังมีพระประธานอายุกว่า 400 ปี อาทิเช่น พระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่11-16


หลวงพ่อยิ้ม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่แกะสลักจากไม้สักทองและลงรักปิดทองอย่างสวยงาม เป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมาช้านาน จากคำบอกกล่าวเล่าขานของคนเก่าแก่ว่า สมัยก่อน หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสและชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มไปประดิษฐาน ณ.พระอุโบสถวัดนางกุย


นอกจากนี้ ด้านหน้าของอุโบสถยังมี เจ้าแม่ตะเคียนทอง แกะสลักจากต้นตะเคียนทอง ที่อยู่คู่วัดมานานกว่า 400 ปี ต่อมาต้นตะเคียนใหญ่ได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณปี พ.ศ.2540 ทางวัดจึงได้นำไปแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาวางไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อให้คนได้สักการะบูชา ปัจจุบันมีผู้คนมากราบไหว้ ขอโชคลาภจากแม่ตะเคียนทองมากมาย


วัดนางกุย นับเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับศึกษาหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีโบราณสถาน โบราณวัตถุหลายชิ้น ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลงานชิ้นเอก ที่บรรพบุรุษรังสรรค์ และทิ้งไว้ให้ลูกหลาน อาทิ พระประธานก่ออิฐถือปูนในอุโบสถ ที่สร้างในสมัยอยุธยา เป็นอุโบสถที่ไม่เหมือนกับที่วัดไหนๆ คือ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่สร้างเป็นรูปเศียรพญานาค ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นโดยทั่วไป


รอบพระประธาน มีพระพุทธรูปโดยรอบ 8 ทิศ โดยเฉพาะด้านซ้ายมือของพระประธานมีรูปปั้นของ นางกุย นั่งพนมมืออยู่ด้วย ด้านบนเพดานตรงเศียรพระประธาน มีแผ่นไม้แกะเป็นลายดาวล้อมเดือน เป็นศิลปะที่งดงามมาก



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/cG9uUsDekkA

คุณอาจสนใจ