เศรษฐกิจ

'เศรษฐา' ขอแรง สส.เพื่อไทย ช่วยแจงประชาชน เงินหมื่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดย nattachat_c

22 พ.ย. 2566

35 views

จากกรณี สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลข GDP ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 โตขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวเลข GDP นั้นวัดได้จากทั้งฝั่งการผลิต (production) และฝั่งรายจ่าย (expenditure) ซึ่งตัวเลขรวมจะต้องตรงกัน


ในฝั่งการผลิต ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดเกิดการหดตัวลง -4% จึงดึงใน GDP ของไทยให้โตต่ำและติดลบ หนักที่สุดคืออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารโตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งโต 3.3% และภาคการขนส่งโต 6.8%


ส่วนฝั่งรายจ่าย คำนวณได้ตามสูตร “C+I+G+X-M” (การบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก - การนำเข้า) ซึ่งจากตัวเลขที่เปิดเผยโดยสภาพัฒน์ฯ วันนี้จะเห็นได้ว่า การบริโภคภาคเอกชนโตขึ้นถึง 8.1% การลงทุนภาคเอกชนโต 3.1% แต่สต๊อกสินค้าก็ลดลงมาก แสดงว่ายังไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับฝั่งการผลิตที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวลงทั้งการบริโภค (-4.9%) และการลงทุน (-2.6%) และถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -3.1% แต่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง 23% ส่วนการนำเข้าหดตัวแรงที่ -10.2%


จากตัวเลขข้างต้น นางสาวศิริกัญญาสรุปว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ที่ภาคการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของภาครัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่ “วิกฤติเศรษฐกิจ” อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว


และที่สำคัญกว่านั้น เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่านข้อมูลเหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขก็ประจักษ์ชัดว่าภาคการบริโภคโตกว่า 8.1%


“ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด ดิฉันเองก็เห็นด้วยและพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจใครหลาย ๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย ‘วิกฤต’ รึยัง?” นางสาวศิริกัญญากล่าว


เมื่อหาแหล่งเงินไม่ได้ ก็บอกว่าประเทศวิกฤตเป็นเหตุผลในการกู้ และเหมือนทุกอย่างแก้ได้ด้วยการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หรือมันเป็น ‘ยาผีบอก’ หรือเปล่า


ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนดีใจที่ประเทศตัวเองวิกฤติ อยากรู้เวลาเชิญชวนนักธุรกิจเข้ามาลงทุน จะบอกเขาว่า ประเทศวิกฤติแล้ว มาลงทุนกันเถอะหรือเปล่า

--------------

วานนี้  (21 พ.ย.66) มีการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค , นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค , นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส.พรรค  โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ร่วมประชุมด้วยในฐานะสมาชิกพรรค


นายเศรษฐา กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า มีผู้สื่อข่าวอยู่เยอะก็ไม่อยากพูดถึงนโยบายนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องพูด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น เชื่อว่า สส.ของเราในฐานะที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมาก ๆ อย่างรวดเร็ว ให้เกิดขึ้นได้ ตรงนี้ก็ต้องขอฝากไว้ด้วย


ทั้งนี้ เลขาสภาพัฒน์ฯ บอกกับตนเองโดยตรงว่า นึกว่าจะเห็นจีดีพีขึ้นเลข 2 แต่ปรากฏว่าเป็น 1.5 ซึ่งถือว่าต่ำมาก ต่ำจริง ๆ เป็นตัวเลขที่ฟังดูแล้วน่าตกใจ ดังนั้น ตนขอย้ำอีกครั้งว่า นโนบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องจำเป็น สำคัญ และเร่งด่วน สำหรับประเทศนี้

----------------

วานนี้ (21 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า


ตนได้พบกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ถึงกรณีที่รัฐบาลมีข้อสอบถาม เรื่องการออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสน เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ว่า จะมีหนังสือมาถึงกฤษฎีกาว่า สามารถทำได้หรือไม่ เมื่อไหร่ และได้คำตอบจากทางรัฐมนตรีว่ากำลังดูอยู่


นายปกรณ์ กล่าวว่า ขออธิบายขั้นตอนกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่ เท่านั้น


โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฏหมาย ขอย้ำว่า เป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา


ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ ก็จะเป็นการยกร่างกฏหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง


“เมื่อเช้า ผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่า นักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า สภาพัฒน์ฯบอกว่า ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นมาว่า ถ้าครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่

นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตน และคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฏหมาย


โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบพิจารณา มีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฏหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่า วิกฤติหรือไม่วิกฤติ


เมื่อถามว่า รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง

นายปกรณ์ กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนไม่รู้ ไม่สามารถตอบแทนได้


เมื่อถามย้ำว่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้

นายปกรณ์ กล่าวว่า คำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถาม เพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย และก็ไม่ใช่หน้าที่ ขอย้ำว่า เรื่องวิกฤติหรือไม่วิกฤติ ไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน และโต้เถียงกัน


เมื่อถามกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่ารัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ

นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ ก็ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีมติ

---------------
วานนี้ (21 พ.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ยังไม่ได้รับหนังสือสอบถามเรื่อง การออก พรก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้คุยกับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องนี้ปล่อยให้ทำงานกันไป


และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นดิจิทัลวอลเล็ตต่อว่า นายประพันธ์ บอกว่า ตนเองเหมือนถูกด่าฟรี เพราะยังไม่ได้รับหนังสือ จากรัฐบาล ซึ่งมีกรอบว่า ให้ตอบกลับภายใน 1 สัปดาห์


นายเศรษฐา กล่าวว่า "ผมไม่เห็นใคร ขอโทษนะ ที่ใช้คำว่าด่า เลขากฤษฎีกา ผมว่า ทุกคนก็ทำงาน เราก็ทำงานกัน’

---------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/EnATjQh7434

คุณอาจสนใจ

Related News