เลือกตั้งและการเมือง

ไม่ได้พลิ้ว! โฆษกรบ.แจง 3 ทางเลือก 'แจกเงินดิจิทัล' ต้องรอมติ 'จุรินทร์' ซัด เหมือนลิงแก้แห

โดย panwilai_c

28 ต.ค. 2566

28 views

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หมื่นบาทของรัฐบาล ที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ดูเหมือนว่า ขณะนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย ทั้งเรื่องจำนวนเงินที่สูงถึง 560,000 ล้านบาท ที่อาจจะกลายเป็นเงินเข้ากระเป๋ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ และไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง



ขณะที่ล่าสุดโฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจง ถึงทางเลือกแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ 3 ทางเลือก ว่า ยังไม่ใช่ข้อสรุป แต่เป็นเพียงการรวบรวมความเห็น เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รัฐบาล เพื่อพิจารณาเท่านั้น



นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จากกรณีที่มีกระแสโจมตีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรณี ที่นายจุลพันธ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้นำข้อสรุปจากการประชุมครั้งล่าสุดของคณะอนุกรรมการดังกล่าว ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติออกมาว่าให้เสนอทางเลือกอื่น ๆ อีก 3 ทางเลือกในการแจกเงิน 10,000 บาท จากทางเลือกเดิมที่กำหนดให้แจกแบบถ้วนหน้าทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวนราว ๆ 56 ล้านคน เป็นเงินที่ต้องใช้รวม 560,000 ล้านบาท นั้น ขอชี้แจงว่า ทางเลือกที่เสนอมาใหม่ทั้ง 3 ข้อนั้น ไม่ใช่เป็นความเห็นหรือข้อเสนอส่วนตัวของนายจุลพันธ์ แต่อย่างใด



นายจุลพันธ์เพียงเป็นผู้รวบรวมมติจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำไปเสนอต่อบอร์ดใหญ่เท่านั้น แต่ทำไมจึงมีคนจับประเด็นคลาดเคลื่อน แล้วพยายามปั่นกระแสเป็นทำนองว่า นายจุลพันธ์พยายามจะหาทางบิดพลิ้วไปจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า ทางเลือกทั้ง 3 ข้อถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่แล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าที่ประชุมใหญ่จะเห็นด้วยกับทางเลือกข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ หรืออาจจะยังคงยืนยันในทางเลือกเดิมคือแจกแบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาทก็เป็นได้ ดังนั้น จะต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก่อน



โดย 3 ทางเลือกที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอนั้น คือ



ทางเลือกที่ 1 ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 150,000-160,000 ล้านบาท

ทางเลือกที่ 2 กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 430,000 ล้านบาท

และ 3 กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 490,000 ล้านบาท



ทางด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็น กรณี 3 ทางเลือก ของกระทรวงการคลัง ด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่าเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย แต่ปัญหาทั้งหมด เห็นว่าเกิดจากการหาเสียงแบบประชานิยม มาถึงวันนี้จึงมีสภาพเหมือนลิงแก้แห



เพราะนอกจากจะมีปัญหา 2 ข้อเดิมแล้ว ยังมีปัญหา 2 ข้อใหม่เพิ่มเข้ามาอีก คือจะทำได้เมื่อไหร่ เพราะเลื่อนมาสองครั้งแล้ว และจะเปลี่ยนเป้าหมายจากกระตุ้นเศรษฐกิจที่โฆษณาไว้มาเป็นสงเคราะห์คนจนหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดกลายเป็น 4 ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องมีคำตอบเพราะเป็นนโยบายประชานิยมที่ไปหาเสียงกับประชาชนเอาไว้

คุณอาจสนใจ

Related News