สิ่งแวดล้อม

“TCAC 2023” ภาครัฐและเอกชนผนึกกำลัง “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน”

โดย fahsai

26 ต.ค. 2566

19 views

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย จัดการประชุม ภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023 ภายใต้แนวคิด “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 6 - 7 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้าใจความตระหนักรู้ถึงเหตุผลและความสำคัญของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และระดับองค์กรร่วมกัน  เป็นเวทีสร้างพลังขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในทุกระดับและทุกภาคส่วน ในการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลก อีกทั้งเพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้า การดำเนินงานในระดับโลก ผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การถ่ายทอดเป้าหมายระดับโลกมาสู่ทิศทางการดำเนินงานในประเทศไทย โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์ และร่วมกันสร้างความพร้อมในการนำไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดย TCAC 2023 เป็นหนึ่งในเวทีสำคัญของประเทศไทย ที่มีการนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความคาดหวัง เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถจับต้องได้

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ พร้อมกล่าวว่า ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนของโลก ทำให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง และยกระดับการดำเนินงานอย่างเข้มข้นมาทุกระยะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หากปราศจากความร่วมมือจากทุกคนในสังคม

“มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นทุกภาคส่วนมาร่วมงานในวันนี้ หวังว่าการประชุมในวันนี้จะเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิด เสริมสร้างความร่วมมือ และดำเนินงานร่วมกัน เพราะเชื่อว่าถ้าเราร่วมมือกัน เราสามารถบรรลุสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้”

    นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า หลายคนมองว่าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องยากและเป็นภาระ ที่จริงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคธุรกิจที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งปัจจุบันองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่มีการส่งเสริมการใช้มาตรการเพื่อความยั่งยืนด้วยแล้ว



จากความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ควบคู่ไปกับการผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำกับดูแลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ  ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ ผลจากการประชุมครั้งนี้จะนำไปรายงานในช่วงสมัยประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 (COP28) ซึ่งมีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดันประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่การค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศต่อไป

จากการประชุมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมถึงประเทศไทยด้วย ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน และทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันพลักดันให้เกิดผลลัพธ์และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป








คุณอาจสนใจ

Related News