สังคม

ฟาสต์แทร็กจริงไหม? เปิดประวัติ 'บิ๊กต่อ' 7 ปี จากผกก. สู้เก้าอี้ ผบ.ตร.

โดย panwilai_c

28 ก.ย. 2566

89 views

กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อที่ประชุม ก.ตร. มีมติ 9 ต่อ 1 โหวตให้ "บิ๊กต่อ" นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. ทั้งที่อาวุโสน้อยที่สุด และได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์หลายครั้ง จนสามารถก้าวกระโดดจากตำแหน่ง ผู้กำกับการ มาถึงเก้าอี้ ผบ.ตร. ได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 7 ปี



สำหรับ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ว่าที่ ผบ.ตร. คนที่ 14 ถือว่ามีอาวุโสน้อยที่สุดใน แคนดิเดต รอง ผบ.ตร. 4 คน และจะเป็น ผบ.ตร. คนแรกที่ "ไม่มีรุ่น" เพราะไม่ได้จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เป็นสมัครเข้าอบรมในหลักสูตร "ผู้มีคุณวุฒิทางด้านินิตศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์" เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สายสอบสวน หรือที่เรียกว่า กอต.4 เมื่อปลายปี 2540



ก่อนจะเข้ารับราชการในตำแหน่งรองสารวัตร สังกัดกองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 ในปี 2541 ด้วยอายุ 33 ปี ซึ่งถือว่า "ช้า" หากเทียบกับตำรวจที่จบมาจากโรงเรียนนายร้อย ชีวิตรับราชการก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง



ก่อนจะได้ขึ้นเป็นผู้กำกับการ ครั้งแรกในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 และนี่เป็นตำแหน่งเดียวที่อยู่ครบหลักเกณฑ์ของ ก.ตร. หลังจากนั้นก็ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์มาตลอด



เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ขึ้นตำแหน่ง "รองผู้บังคับการกองปราบปราม" ซึ่งปกติต้องนั่งในตำแหน่งนี้ 5 ปี ถึงจะขึ้นตำรวจ "ผู้บังคับการ" ได้ แต่ในเดือนตุลาคม 2561 ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์อีกครั้ง ให้ขึ้นตำแหน่ง "ผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 หรือปัจจุบันคือ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ



ต่อมาเดือนตุลาคม 2562 ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ ให้ขึ้นตำแหน่ง "รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง" โดยไม่ต้องนั่งในตำแหน่ง 2 ปี ถือเป็นผู้บังคับการที่อาวุโสน้อยที่สุดจากรองผู้บังคับการกว่า 400 นาย



เดือนกันยายน 2563 ได้ขึ้นตำแหน่ง "ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง" ซึ่งการขึ้นตำแหน่งนี้ระบุเพียงว่า รองผู้บัญชาการต้องนั่งในตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปี (แต่ตอนที่ "บิ๊กต่อ" ขึ้น เพิ่งจะได้ 11 เดือน)



1 ปี ต่อมา 1 ตุลาคม 2564 ได้เลื่อนเป็น "ผู้ช่วย ผบ.ตร."



1 ตุลาคม 2565 ได้ขึ้นเป็น "รอง ผบ.ตร." พร้อมกับ "บิ๊กโจ๊ก" และ "บิ๊กต่าย"



1 ตุลาคม 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ ก็ได้รับการคัดเลือกจาก ก.ตร. เป็น "ผบ.ตร." คนที่ 14



หากนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง "ผู้กำกับ" ยศ "พันตำรวจเอก" จนมาถึงวันนี้ที่กำลังจะดำรงตำแหน่ง "ผบ.ตร." เต็มตัวใช้เวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น ทำให้เคยถูกอภิปรายในสภาว่ามี "ตั๋วช้าง"



เมื่อเทียบเคียงกับรอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นแคนดิเดตอีก 3 คน จะเห็นว่าแต่ละคนมีเส้นทางรับราชการที่ยาวนานกว่ามากกว่ามาก เช่น พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ ดำรงตำแหน่ง "ผู้กำกับการ" ยศ "พันตำรวจเอก" ครั้งแรก 10 พฤศจิกายน 2543 ไต่เต้ามาจนได้รับตำแหน่ง "รอง ผบ.ตร." วันที่ 1 ตุลาคม 2564 รวมเวลา 21 ปี



พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ดำรงตำแหน่ง "ผู้กำกับการ" ยศ "พันตำรวจเอก" ครั้งแรก วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ได้รับตำแหน่ง "รอง ผบ.ตร." วันที่ 1 ตุลาคม 2565 รวมเวลา 14 ปี



พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ ดำรงตำแหน่ง "ผู้กำกับการ" ยศ "พันตำรวจเอก" ครั้งแรก วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ได้รับตำแหน่ง "รอง ผบ.ตร." วันที่ 1 ตุลาคม 2565 รวมเวลา 18 ปี



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/d2G8qZqMTZQ

คุณอาจสนใจ

Related News