เลือกตั้งและการเมือง
'วันนอร์' สั่งงดโหวตนายกฯ 27 ก.ค.นี้ รอศาลรธน.วินิจฉัย ปมเสนอชื่อซ้ำ
โดย panwilai_c
25 ก.ค. 2566
78 views
วันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งคำร้องมติที่ประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะที่ประธานรัฐสภา แจ้งสมาชิกรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ทีมข่าว 3 มิติ เปิดเผยว่า ได้แจ้งสมาชิกรัฐสภา งดการประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 กรกฏาคมนี้ จากเหตุผลที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการลงมติว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำซ้ำได้ตามข้อบังคับที่ 41 ถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลมีคำสั่งชะลอการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน ทำให้ต้องงดการประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันพรุ่งนี้ไปด้วย ส่วนจะนัดประชุมรัฐสภาใหม่อีกเมื่อใด คงต้องรอฟังแนวทางการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งในกรณีที่ไม่รับคำร้อง และรับคำร้อง ฝ่ายกฎหมายจะมาหารืออีกครั้ง
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเปิดเผยว่าได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีรัฐสภาลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น "ญัตติ" ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมขอให้ศาลสั่งว่าเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้ออกไป จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นไปตามวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการรับเรื่องคำร้องในทางธุรการ ก่อนที่คณะพิจารณารับคำร้องชุดเล็ก ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาทำความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง ก่อนที่จะส่งความเห็นไปยังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คาดว่าในการประชุมประจำสัปดาห์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ 26 กรกฏาคม จะยังไม่มีวาระพิจารณารับคำร้องหรือไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากจะต้องให้องค์คณะชุดเล็กพิจารณารับคำร้องพิจารณาก่อน
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ ประจำปี 2566 โดยนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดงาน ย้ำกว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารองค์กรมุ่งหมายให้สื่อสารมวลชนในฐานะที่เป็นสื่อกลางเป็นตัวแปรสำคัญในการนำเสนอความรู้ข้อมูลข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ชัดเจนครบถ้วนและรอบด้านร่วมกัน ภายใต้หลักการแห่งการยอมรับในเสรีภาพของสื่อมวลชน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสื่อมวลชน ยืนยันว่าการดำเนินการคดีต่างๆ ต้องทำตามขั้นตอน ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องว่าไปตามกติกา
ขณะที่นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันเช่นกันว่าจะพิจารณาคดีไหนก่อนก็ต้องดูที่พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงด้วย
ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษถึงบทบาทสื่อมวลชนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม โดยแสดงให้เห็นฉากทรรศน์ของสังคมที่ต้องเข้าใจถึงระบอบการปกครอง ระบบการเมือง และระบบกฎหมาย สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่สำคัญในการสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถออกมาชี้แจงกับสังคมได้ ไม่มีไอโอ มีแต่ประเพณีปฏิบัติว่าหากต้องการชี้แจงอันใดก็ให้เขียนไว้ในคำวินิจฉัยให้สิ้นข้อสงสัย แต่พร้อมรับฟังเสียงติติงของประชาชน ซึ่งเหมือนขุมทรัพย์ของศาล ที่จะนำไปปรับปรุงพัฒนา
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกนายกรัฐมนตรี โดย เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจที่จะไปตรวจสอบข้อบังคับของรัฐสภา ส่วนที่ว่ารัฐสภาจะทำถูกต้องหรือไม่นั้น ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้เฉพาะร่างข้อบังคับก่อนที่จะเอาไปประกาศใช้ และไม่ได้เรียกว่าเป็นการตรวจสอบแต่เป็นการช่วยกลั่นกรองให้กับรัฐสภา แต่เมื่อประกาศใช้แล้วไม่มีกฎหมายใดให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบข้อบังคับของรัฐสภาได้
ส่วนกรณีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ การอ้างข้อบังคับมาจำกัดสิทธิของผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะไปขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 157 ในการประชุมรัฐสภาต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับรัฐสภา ซึ่งดำเนินการตามข้อบังคับรัฐสภา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าข้อบังคับรัฐสภาขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้