สังคม

"ชลน่าน" ปัดดันก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน เผยเพื่อไทยยังไม่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รอนัดคุยท่าที

โดย nutda_t

20 ก.ค. 2566

2.1K views

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ซ้ำไม่ได้ และถูกตีตกไปวานนี้ ว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เพราะจะเป็นข้อผูกพันและผูกมัดต่อไป ซึ่งการวินิจฉัยของสภาจะเป็นข้อผูกมัดการใช้ข้อบังคับของสภาต่อไป เป็นข้อบังคับที่ผูกมัดแค่มาตรา 272 แต่ถ้านำไปใช้กับมาตรา 159 ผลผูกพันจะลดหลั่นไป แต่เรื่องดังกล่าว 8 พรรคจะดำเนินการต่อไปตาม MOU โดยให้สิทธิ์พรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคแกนนำ ขณะนี้รอให้พรรคก้าวไกลนัดประชุมอีกครั้ง เบื้องต้นเลขาธิการพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ได้มีการพูดคุยกันแล้ว ดังนั้นเมื่ออะไรที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ก็ปฏิบัติตามได้ทุกอย่าง


ส่วนกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นักกฎหมาย ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยเมื่อวานนี้ ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ที่สามารถให้สมาชิกที่ได้ผลกระทบตามมาตรา 243 ไปยื่นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิของบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ จากการกระทำเมื่อวาน ที่ไม่ใช่ ส.ส. พร้อมยกตัวอย่างว่า เมื่อวานถ้าตนเองถูกละเมิดสิทธิ ก็สามารถไปยื่นได้ โดยผ่านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เว้นแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับ ก็สามารถใช้สิทธิร้องตรงได้


ส่วนพรรคเพื่อไทยจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากประธานสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 27 ก.ค. นี้ นพ.ชลน่าน ระบุว่า ต้องรอถึงวันนั้นก่อน ซึ่งพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ต้องหารือกันโดยเร็ว เพราะการตัดสินใจเป็นของพรรคก้าวไกล ยืนยันขณะนี้เพื่อไทยยังอยู่กับพรรคก้าวไกล ตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ว่าจะเสนอชื่อใครชิงนายกรัฐมนตรี ต้องรอการนัดหมายว่าจะเป็นวันนี้หรือวันพรุ่งนี้


ส่วนการทำหน้าที่ของประธานสภาเมื่อวานนี้ นพ.ชลน่าน ระบุ ไม่มีใครพอใจแม้แต่ตนเอง ซึ่งตนเองพยายามหาทางออกให้ การเสนอชื่อญัตติโดยใช้เสียงข้างมากธรรมดา ที่ไม่มีช่องทางที่ชอบด้วยข้อบังคับ ตนก็ไม่ยอม จึงให้เป็นอำนาจการวินิจฉัยของสภา แต่เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนั้น ก็ต้องยอมรับ แต่โดยหลักเมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประชุม ระบบรัฐสภา ระบบเสียงข้างมาก เราต้องยึดถือ แต่แคลงใจเรื่องเสียงข้างมาก และไม่พอใจ และเสียงข้างมากไม่เป็นตามหลักนิติธรรม ซึ่งปัญหานี้จะเป็นบทเรียนนำไปสู่การแก้ไข เพราะข้อบังคับนี้ สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้กำหนด แต่ต้องเป็นตามหลักรัฐธรรมนูญ เมื่อหมดวาระ ส.ว. 11 พ.ค. 67 ก็จะมีความชอบในการแก้ไขข้อบังคับ เพื่อทำให้เกิดความขัดเจน อะไรที่เป็นข้อจำกัดจะได้ไปบัญญัติให้ขัดเจน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร


ดังนั้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ครั้งต่อไป ยอมรับทุกคนต้องเป็นห่วง พรรคเพื่อไทยตกภาระที่ลำบาก ถ้าในกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำ ยอมรับว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำก็เป็นห่วง เพราะถ้าไม่ได้รับความเห็นจากทุกฝ่ายทุกคน ก็ฝ่าด่านนี้ไปได้ลำบาก เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพรรคแกนนำที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ต้องไปแสวงหาความมั่นใจว่าก่อนเสนอจะผ่าน ไม่มีใครรบบนสมรภูมิที่รบแล้วแพ้ ซึ่งเราก็เสียคนของเราไปด้วย ถ้าเรามีคนเดียว นั่นคือปัญหา และเห็นด้วยที่พรรคก้าวไกลจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องดำเนินการ


และจากกรณีที่ส.ว.จะไม่ลงมติให้ หากยังจับมือกับพรรคก้าวไกล ที่ยังคงการแก้ไข ม.112 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราคงไม่รอให้เกิดมติแบบนี้ หากพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ เพราะถ้ารอมติแบบนั้น เราก็แพ้อย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ในการดำเนินการต้องมีความมั่นใจเต็มร้อย หรือ 80% ขึ้นไป พร้อมทั้งยกตัวอย่างถ้าเรามีกำลังร้อย ต้องทำให้เต็มร้อย หรือ 80-90 ถึงจะชนะ ซึ่งตนมองว่า ไม่ว่าใครจะอยู่ในสถานการณ์นี้ก็คิดหนัก ต้องสร้างความมั่นใจ ก่อนที่จะไปรบจะมีโอกาสชนะอย่างไร ขณะนี้ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ ซึ่งตนสงสารพรรคก้าวไกล ที่ใช้ประเด็นดังกล่าวมาเป็นเงื่อนไข พรรคเพื่อไทยไม่ก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของพรรคก้าวไกล และเราไม่คิดให้เขาไปลดแนวทางการดำเนินการของพรรคก้าวไกล เพราะเป็นสิทธิ์การตัดสินใจของเขา อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไม่สามารถพูดอะไร ขอให้เหตุการณ์ไปถึงจุดนั้นก่อน และตอนนี้ตนยังไม่ได้ไปคุยกับส.ว. รอขบวนการให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชัดเจนก่อน


พร้อมปฏิเสธตอบถึงนัยยะสำคัญ หลังมี ส.ว. บางส่วนที่เคยหนุนพรรคก้าวไกล ครั้งนี้ไม่ได้ออกเสียงให้ พร้อมระบุว่า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นความเห็นเรื่องการวินิจฉัย เป็นการตีความข้อบังคับ จะเอามาตีความว่าเป็นพิธา หรือไม่เป็นพิธาไม่ได้ ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานตีความข้อบังคับ ซึ่งหากทุกคนได้ฟังอภิปรายวานนี้ เหมือนเป็นการสอนระบบประชาธิปไตย อย่างเป็นเหตุเป็นผล


ส่วนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวศ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่วิจารณ์พรรคก้าวไกลให้เป็นไปฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นความเห็นและเป็นสิทธิเสรีภาพ จะถือว่าเป็นความเห็นร่วมคงไม่ได้ เพราะต้องมีการพูดคุยกันใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล พร้อมย้ำว่า เป็นความเห็นส่วนตัวของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตนไม่สามารถตอบแทนได้


ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า 8 พรรคร่วม ติดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่การเลือกประธานสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แล้วแต่มุมมอง จะไปสรุปว่าผิดหรือไม่ผิด ต้องดูข้อเท็จจริง จะเอาเหตุการณ์ไหนมาวัด ก็ว่าเป็นเรื่องๆ ไป ขออย่าไปสรุปว่าผิดหรือไม่ผิด ก็ลำบาก เพราะแต่ละคนมีมุมมองที่ต่างกัน ความเห็นต่างถือเป็นสีสันของระบอบประชาธิปไตย พรรคที่แพ้ก็บอกว่าคิดผิด แต่ถ้าเราชนะก็บอกว่าคิดถูก

คุณอาจสนใจ

Related News