เลือกตั้งและการเมือง

สภาเดือด! ถกปมเสนอชื่อ 'พิธา' ซ้ำรอบ 2 คุย 7 ชั่วโมงไม่จบ สรุปผลโหวต 'เสนอชื่อซ้ำไม่ได้'

โดย nattachat_c

20 ก.ค. 2566

200 views

วานนี้ (19 ก.ค. 66) การประชุมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานโดยการประชุมเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. มีวาระสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งถือเป็นการพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 หลังการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภา มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว


ทันทีที่เข้าสู่การประชุม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้เสนอชื่อ นายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2 เพียงรายชื่อเดียว โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นเสนอบุคคลใดเพิ่มเพื่อเป็นผู้ท้าชิง


ต่อมา นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นทักท้วง เนื่องจาก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ระบุว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำเสนอขึ้นใหม่ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติ


นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เห็นแย้ง เนื่องจาก กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว จึงขอให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัย รวมถึงนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มั่นใจว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ญัตติ แต่เป็นข้อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 136


ซึ่งในการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา รัฐสภาเคยมีมติไม่ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ซึ่งญัตติการเสนอชื่อนายพิธาดังกล่าว จึงถือเป็นอันตกไป และการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่มีเหตุการณ์อื่นใดเปลี่ยนแปลงไป อาจจะขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้ พร้อมเสนอญัตติให้พิจารณาว่า การเสนอชื่อนายพิธา ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงเนื่องจาก ระหว่างที่รัฐสภาพิจารณาข้อเสนอเสมือนญัตติตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเสนอญัตติอื่นๆ ซ้อนได้ ซึ่งขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 31 และจะทำให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไปขัดต่อกระบวนการรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทำให้นายอัครเดช ลุกขึ้นตอบโต้ว่า กรณีที่นายจุลพันธ์ ระบุว่า ไม่สามารถพิจารณาญัตติ ซ้อนญัตติได้นั่นหมายความว่า ได้ยอมรับแล้วว่า การเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นญัตติ โดยนายจุลพันธ์ เห็นว่า กระบวนการที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้ รัฐสภา ควรจะใช้เสียงข้างมาก ตัดสินว่า ที่ประชุมจะเห็นชอบให้ดำเนินการไปตามทิศทางใด

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกรัฐสภา ระบุ อยากให้ประธานรัฐสภาและที่ประชุมพิจารณาให้ชัดเจน ที่เสนอ รื่องบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามระเบียบวาระไม่เป็นญัตติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการที่มีการพิจารณาในวันนี้เป็นไปตามหมวด 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่ข้อบังคับข้อที่ 136 -139 ซึ่งข้อบังคับที่ 138 เขียนเอาไว้ว่า ในการพิจารณาญัตติวรรคหนึ่ง ซึ่งก็เขียนอย่างชัดเจนในข้อบังคับว่าเป็นญัตติ อีกทั้งสิ่งที่เสนอในวาระ ให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ตนไม่เห็นด้วย และมีข้อต่างจากนายอัครเดช ว่า ไม่ใช่การขัดแค่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ดังนั้นข้อเสนอจากตนไม่เห็นด้วย จะต้องให้มีผู้รับรองให้ญัตติหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน


ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ตนไม่ได้พูดว่าญัตติแต่กระบวนการทำเหมือนญัตติ ถ้าประธานไม่วินิจฉัยแล้วใครจะวินิจฉัย ถ้ารัฐสภาจะวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับใช้ข้อบังคับ ก็คือการตีความข้อบังคับที่มีปัญหาอยู่ 2 ส่วน ที่เขียนเอาไว้ชัดเจนแล้วว่าข้อ 151 หากมีปัญหาตีความข้อบังคับ ให้เป็นอำนาจรัฐสภาวินิฉัย ซึ่งลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เท่ากับต้องได้เสียง 375 เสียงถึงจะสามารถวินิจฉัยข้อบังคับไม่ได้ แต่การโหวตครั้งนี้ถ้ารัฐสภา ได้เสียง 374 เสียงญัตติที่เสนอมาจะตกไป วินิจฉัยไม่ได้ก็เป็นไปตามข้อบังคับ เดินหน้าเข้าสู่การโหวตนายกรัฐมนตรีต่อไป ดังนั้นขอให้ประธานวินิจฉัยว่า สมาชิกสามารถเสนอญัตตินี้ได้โดยอาศัยข้อบังคับที่ 151 กรณีมีความเห็นต่างเรื่องการใช้ข้อบังคับฯ ถ้าคะแนนออกมา เสียงข้างมากได้ 375 เสียง ท่านต้องยอม แต่ถ้าไม่ได้หรือท่านได้ 374 เสียงท่านต้องยอมพวกผมเหมือนกัน เพื่อให้มีการโหวตเลือกนายกต่อไป


หลังใช้เวลาอภิปรายกันอย่างกว้างขวางกว่า 7 ชั่วโมง ถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ที่ห้ามมีการเสนอญัตติซ้ำ ในสมัยประชุมเดียวกัน จนต้องตีความว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าข่ายเป็นการเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรี ซ้ำ ตามข้อบังคับที่ 41 หรือไม่


ต่อมา เวลา 16.55 น. ประธานรัฐสภา ให้ สมาชิกรัฐสภาแสดงตน เพื่อเข้าสู่กระบวนการลงมติ ตามข้อบังคับที่151 ว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำเป็นครั้งที่สอง สามารถทำได้หรือไม่


ซึ่งการลงมติตามข้อบังคับ 151 จะต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา 748 คน คือ ต้องใช้เสียง 374 ขึ้นไป

โดยที่ประชุมมีมติในเวลา 17:07 น. มีมติเสียงข้างมาก 395 ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน1 เห็นด้วยว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้ตามข้อบังคับที่ 41


จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้สั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 17:09 น.
------------------

แท็กที่เกี่ยวข้อง  เสนอชื่อนายกฯซ้ำ ,วันมูหะมัดนอร์ มะทา ,โหวตนายกฯ ,สุทิน คลังแสง ,8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ,พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ,พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ,รังสิมันต์ โรม ,จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ,นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ,เสนอชื่อนายกฯซ้ำ ได้หรือไม่ ,พรรคเพื่อไทย ,อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ,เสรี สุวรรณภานนท์

คุณอาจสนใจ

Related News