เลือกตั้งและการเมือง

“ส.ว.สมชาย” ชี้ รัฐสภา ต้องร่วมหาทางออกหากจะส่ง “พิธา” โหวตนายกฯ รอบ 2 ย้ำหากถูกปัดตกประชุมต้องจบ

โดย kanyapak_w

19 ก.ค. 2566

93 views

“ส.ว.สมชาย” ชี้ รัฐสภา ต้องร่วมหาทางออกหากจะส่ง “พิธา” โหวตนายกฯ รอบ 2 ย้ำหากถูกปัดตกประชุมต้องจบ แต่ส่งญัตติซ้ำได้ประชุมสมัยหน้า เผย ไทยไม่ได้ไร้แคนดิเดตนายกฯ หลัง “เพื่อไทย” จ่อคิวถัดไป



19 ก.ค. 2566 ที่รัฐสภา ก่อนเริ่มประชุมร่วมรัฐสภา วาระการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะยังมีความกังวลต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 ห้ามเสนอญัตติซ้ำ ว่า ประธานรัฐสภาออกระเบียบการประชุมในครั้งนี้ถูกต้อง เพื่อเรียกประชุมเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ซึ่งการประชุมครั้งที่แล้ว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ญัตตินี้ไม่ได้แปลกใหม่เหมือนที่หลายคนพยายามอ้างว่าเป็นญัตติพิเศษ แต่กรณีของการเสนอ นายพิธา เป็นนายกฯ เป็นการเสนอญัตติซ้ำต้องเสนอในสมัยประชุมหน้า วันที่ 12 ธันวาคม แต่ญัตติได้ถูกปัดตกไปแล้ว 324 เสียงไม่พอที่จะสนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี



“หากจะเสนอใหม่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ไปรวมกับพรรคสองลุง กับหนึ่งหนู กับหนึ่งแมลงสาบ หรือเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ก็จะเป็นญัตติใหม่ แต่หากจะเสนอชื่อ นายพิธา บวกกับพรรคขั้วสองลุง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เข้าสภาในวันนี้ก็สามารถทำได้”



เมื่อถามว่า การประชุมในวันนี้จะล่มหรือไม่ นายสมชาย ย้ำว่า ไม่ล่ม เพราะการโหวตนายกรัฐมนตรี ส.ว. ไม่มีความกังวลและพร้อมจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เดินหน้าจนจบ เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรี ถ้าคาดว่าเดือนสิงหาคมน่าจะได้นายกฯ หรืออาจจะเร็วกว่านั้น



“รัฐสภาต้องใช้ข้อบังคับเป็นกฎหมาย ถ้าพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลเห็นว่าเรื่องนี้อยากยกเว้นข้อบังคับ ก็เสนอซ้ำ แต่ถ้าญัตติที่ นพ.ชลน่าน เสนอซ้ำขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 ขอเสนอให้ลงมติหาทางออกร่วมกัน หากสภาลงมติว่าไม่ขัดก็เดินหน้าโหวตต่อ แต่ถ้าลงมติว่าขัดก็จบ”



เมื่อถามว่า วันนี้ศาลเอารัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อของ นายพิธา ทางด้าน ส.ว. รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายสมชาย เผยว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นการเดินหน้าของที่ประชุมรัฐสภา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยอย่างไรต้องมีระยะเวลา แต่กรณีของนักการเมืองที่ผ่านมาหลังจากยื่นประมาณ 7 วัน ศาลจะพิจารณา และวันนี้ศาลมีความเห็นว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าไม่พิจารณาก็จบ หากพิจารณาก็จะต้องคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ส่วนตัวเชื่อว่าจะออกมาในแนวทางให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาล ตนยืนยันว่าทุกคนโดนมาหมด แม้กระทั่งตนก็เคยโดนยื่นฟ้องมาแล้ว เมื่อคุณไปยื่นศาลศาลก็ต้องดำเนินวิธีตามระเบียบ



เมื่อถามว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะประชาชนต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด นายสมชาย ระบุว่า ญัตติที่เสนอซ้ำทำให้ล่าช้า ประชาชนสับสน สภาเป็นที่ออกกฏหมาย เป็นหนึ่งในองค์อำนาจนิติบัญญัติ ต้องเป็นตัวอย่างวัฒนธรรมการเมืองที่ดี ไม่ห้ามหากจะเสนอญัตติซ้ำแต่ต้องเสนอในสมัยถัดไป ตนคิดว่านายพิธาคงไม่เอาและพรรคก้าวไกลคงไม่ยอม พรรคเพื่อไทยคงไม่ยอมเช่นกันเพราะถึงคิวแล้ว ส.ว. ไม่ได้อยากข้องเกี่ยวแต่รัฐธรรมนูญบังคับให้มีหน้าที่ต้องทำ และทุกอย่างควรจะชัดเจนถ้าคนที่หนึ่งไม่ได้คนถัดไปก็ต้องเข้ามา มีบัญชีรายชื่อค้างอยู่เยอะ ประเทศไทยไม่ได้ไร้แคนดิเดตนายกฯ แต่เป็นเราที่ทำให้เกิดกับดักวนอยู่กับที่ ส.ว.พร้อมบวกทุกกรณี



“จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็อยู่ที่นโยบายไม่ใช่อยู่ที่ตัวบุคคล ส.ว. ทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบที่ ส.ส. เสนอชื่อมา เราทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมือนองค์กรอิสระ ถ้าไม่มีปัญหาเราจะโหวตให้ จึงอยากให้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นโดยเร็วต้องรีบทำ อย่าให้กระสุนมาตกที่ ส.ว.”



ขณะเดียวกันในระหว่างการประชุม ส.ว.สมชายยังย้ำว่า หากถูกปัดตกประชุมต้องจบ และส่งญัตติซ้ำได้ประชุมสมัยหน้า




คุณอาจสนใจ

Related News