เลือกตั้งและการเมือง

ศาลคดีทุจริตฯ รับเรื่องคดี 7 กตต. กลั่นแกล้ง "พิธา" ปมหุ้นสื่อ นัดฟังคำสั่ง 8 ส.ค. 66

โดย paranee_s

18 ก.ค. 2566

93 views

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับเรื่องคดี ประธานกกต.และพวกรวม 7 คน กล่าวหากลั่นแกล้ง “พิธา” ไม่ไต่สวนคดีถือหุ้นสื่อ ITV เร่งรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังลดความน่าเชื่อถือในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการประกาศผลล่าช้า นัดฟังคำสั่ง 8 ส.ค. 66


สืบเนื่องจากนายยงยุทธ เสาแก้วสถิต ยื่นฟ้องนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการ ก.ก.ต. กับพวกรวม 7 คน ฐานความผิดร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ประกาศผลการเลือกตั้ง และส่งเรื่องนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธา


โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 16.20 น. นายยงยุทธ เสาแก้วสถิต ยื่นฟ้องนายอิทธิพร บุญประคอง กับพวก รวม 7 คน ว่า โจทก์เป็นหนึ่งในจำนวนคนไทยหลายหมื่นที่ลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ เขต 8 มีนบุรี กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศที่เลือกผู้สมัครและพรรคก้าวไกลรวมมากกว่าสิบสี่ล้านคน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 โดยคาดหวังว่าพรรคก้าวไกลจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และได้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ซึ่งมีความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไทยคนต่อไป


โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการเลือกตั้ง ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายฉบับ เช่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีหน้าที่กำกับดูแลงานในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายฉบับเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง มีหน้าที่กำกับ ดูแลงานโดยทั่วไป งานธุรการ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบประกาศและมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง งานในหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมือง กำกับดูแลพรรคการเมือง/การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองโดยจำเลยที่ 7 ขึ้นการบังคับบัญชากับจำเลยที่ 1


ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2566 ต่อเนื่องถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลากลางวันและกลางคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้ง 7 ได้บังอาจกระทำผิดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ กระทำการในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ โดยทุจริต เจตนา ร่วมกันออกประกาศคณะกรรมการ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำเลยทั้ง 7 มีพฤติการณ์ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ เช่น ประกาศผลการเลือกตั้งได้ช้ากว่าที่ควร จำเลยทั้ง 7 ปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือจากหน่วยหรือองค์กรเอกชน และไม่เลือกใช้การสื่อสารที่ทันยุคทันสมัยแต่อย่างใด โดยผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566


ปรากฏว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า 14 ล้านคนรวมทั้งโจทก์ด้วยเลือกพรรคก้าวไกล จนพรรคก้าวไกลได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับหนึ่งคือได้จำนวน 151 คน โดยโจทก์และผู้ลงคะแนนเสียงเลือกนายพิธา และพรรคก้าวไกล เหตุเพราะเห็นว่านายพิธา เป็นคนมีความรู้ความสามารถสูงเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมุ่งหวังจะให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป


แต่จำเลยทั้ง 7 โดยทุจริต เจตนาร่วมกัน กลั่นแกล้งนายพิธา ด้วยการประชุมวินิจฉัย ลงมติ หรือมีความเห็นร่วมกันส่งเรื่องที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นสื่อไอทีวี ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลการเมือง อย่างเร่งรีบ เพื่อให้วินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่มีคุณสมบัติและ/หรือขาดคุณสมบัติที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะถือหุ้นสื่อ และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยจำเลยทั้ง 7 มิได้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน ตามอำนาจหน้าที่ หรือตามขั้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด อันเป็นการดำเนินการก่อนหรือขณะวันโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เพื่อลดความน่าเชื่อถือของนายพิธา และพรรคก้าวไกลต่อสมาชิกรัฐสภา


ทั้งที่นายพิธา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจนครบหนึ่งสมัยหรือสี่ปีแล้ว ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีผู้ใดร้องคัดค้านแต่อย่างใด จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้บุคคลอื่นคือโจทก์และ/หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร


ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งให้รับคดีไว้เพื่อตรวจฟ้องให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา วันที่ 8 สิงหาคม 2566 เวลา 9.30 น.

คุณอาจสนใจ

Related News