ต่างประเทศ

จีนพบ 'บ๊ะจ่าง' อายุกว่า 2,000 ปี จากหลุมศพขุนนางยุคจ้านกั๋ว ที่มณฑลเหอหนาน อายุเยอะสุดเท่าที่เคยพบ

โดย nattachat_c

26 มิ.ย. 2566

3.3K views

สำนักข่าว ซินหัว รายงานว่า สถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดี มณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของจีน เปิดเผยว่า ได้ค้นพบอาหารจีนดั้งเดิมอย่าง 'จ้งจื่อ' หรือ 'บ๊ะจ่าง' เป็นพวง ซึ่งมีอายุมากกว่า 2,000 ปี ที่สุสานโบราณ ในเมืองซิ่นหยาง


โดย บ๊ะจ่าง 2 พันปี เหล่านี้ ถูกขุดพบที่หลุมศพขุนนางรัฐฉู่โบราณ ในช่วงกลางยุครณรัฐ หรือยุคจ้านกั๋ว หรือเมื่อประมาณ 475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช  และพบ 'อาหารห่อใบไม้' ลักษณะคล้ายบ๊ะจ่างยัดไส้ธัญพืชในหลุมดังกล่าวจำนวน 40 ห่อ  


รายงานระบุว่า อาหารห่อใบไม้ที่พบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10-15 เซนติเมตร ถูกห่อด้วยใบไม้กว้าง และมัดด้วยเชือกหรือก้านไม้ จากผลตรวจสอบผ่านกล้องจุลทรรศน์ พบอาหารเหล่านี้ 39 จาก 40 ห่อ ถูกยัดด้วยข้าวดิบที่ยังมีเปลือกอยู่ ส่วนอีกห่อถูกยัดด้วยข้าวฟ่าง


คณะนักโบราณคดีระบุว่า ใบไม้ที่ใช้ห่อเป็นใบจากพืชสกุลโอ๊ก ซึ่งสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติปัจจุบัน ในพื้นที่ทางตะวันตกและตอนใต้ของเหอหนาน ที่ห่อบ๊ะจ่างด้วยด้วยใบพืชสกุลดังกล่าว


หลาน ว่านลี่ นักโบราณคดี กล่าวว่า อาหารห่อใบไม้สอดไส้ธัญพืชเหล่านี้ ถือเป็นบ๊ะจ่างเก่าแก่ที่สุดที่นักโบราณคดีเคยค้นพบ เมื่อพิจารณาจากการค้นพบทางโบราณคดีและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ


ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง 'เทศกาลเรือมังกร' หรือ 'เทศกาลตวนอู่' ซึ่งเฉลิมฉลองในวันที่ 5 เดือน 5 ตามตามปฏิทินจันทรคติของจีน หรือตรงกับวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี 'จ้งจื่อ' หรือ 'บ๊ะจ่าง' เป็นอาหารสำคัญประจำเทศกาล

--------------

คุณอาจสนใจ

Related News