เลือกตั้งและการเมือง

"เพื่อไทยไม่งอแง หาเรื่องตีจากก้าวไกล" : ชลน่าน

โดย panisa_p

27 พ.ค. 2566

86 views

'หมอชลน่าน' ยืนยัน เพื่อไทยไม่งอแง แต่ขอมีศักดิ์ศรี ย้ำ ยึด MOU ดัน 'พิธา' นายกฯ ไม่แย่งจัดรัฐบาล ไม่รอส้มหล่น ยอมรับเพื่อไทยขอตำแหน่ง ประธานสภาฯ แต่เป็นเรื่องของการต่อรอง มั่นใจสุดท้ายตกลงกันได้ ไม่ถึงขั้นไปโหวตกันในสภา


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวการเมืองช่อง 3 ระบุว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำและทำ MOU ร่วมกันได้เรียบร้อย โดยมีเจตนามุ่งมั่นว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันให้ได้ โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี นี่คือสิ่งที่เรามุ่งมั่นด้วยกัน


ส่วนปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แล้วแต่คนมอง กองเชียร์อาจจะมองว่าเป็นปัญหา คนที่หวังมากอาจจะมองว่าเป็นปัญหา แต่ตนมองว่าในระบบของเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การเสนอความเห็นต่าง ในแต่ละมุมมองในระบบรัฐสภา ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน


ในส่วนของตนไม่ถือว่าเป็นปัญหา เรามองว่าลักษณะนี้เป็นความเห็นต่าง โดยเฉพาะสังคมที่เรากำลังจะมีประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งเป้าหมายใหญ่ที่พูดไปก่อนหน้านี้คือคุณพิธา ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องมีรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อปิดกั้นเผด็จการ นั่นคือเป้าหมายใหญ่ของเรา เราต้องทำยังไงให้ความเห็นต่างเหล่านี้ มาเป็นความเห็นร่วมกันให้ได้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ หลักการมันก็มีแค่นี้


เมื่อถามว่าตอนนี้พรรคก้าวไกล ประกาศชัดว่าต้องการตำแหน่งประธานสภา ส่วนทางพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องการตำแหน่งประธานสภาเช่นกัน แนวทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรเมื่อต่างคนต่างอยากได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การเสนอความต้องการเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ต้องจบที่การพูดคุย การเจรจา เพื่อเป้าหมายใหญ่ ว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ไม่อยากให้คิดว่าเป็นข้อขัดแย้ง มันไม่เสียหายอะไร ที่ต่างฝ่ายต่างเสนอความต้องการ มันเป็นหน้าที่ของคู่เจรจา


เมื่อถามต่อว่า วิถีของการต่อรอง ต้องไปต่อรองกันเงียบๆ ตามโต๊ะเจรจาหรือเปล่า แต่ทำไมออกมาพูดกันข้างนอก เลยดูเหมือนเกิดภาพความขัดแย้ง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เขาคงไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็นการต่อรอง แต่อาจจะเป็นการทำงานแยกส่วนกัน โดยฝ่ายเจรจาต่อรองก็ไปพูดคุยกัน ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าเราควรจะได้อะไร อยากเสนออะไร ก็เสนอไป ซึ่งในบางมุม คนก็อาจจะเห็นว่าเปิดการเผยดีนะ อาจเป็นประโยชน์ก็ได้ และเมื่อ 2 ฝ่ายมานั่งคุยกัน นำข้อเสนอมาปรับจูนเข้าหากัน ว่าแต่ละพรรคจะได้เท่าไหร่ นั่นเป็นข้อตกลงร่วม ถ้าเรามองในมุมว่าต่างฝ่ายต่างไปยึดมั่น ถือมั่นต่อตัวเอง นั่นไม่ใช่ข้อเสนอ แต่เป็นเงื่อนไขไปแล้ว


เมื่อถามว่า เชื่อว่าพอได้พูดคุยกัน มันต้องมีจุดที่สามารถตกลงกันได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้าทุกฝ่ายคำนึงถึงเป้าหมายใหญ่ในการที่จะได้รัฐบาลประชาธิปไตยปิดกั้นเผด็จการ และในการที่จะได้นายกรัฐมนตรีชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งประชาชนที่เลือกมาเขาไม่ได้บอกจะเลือกประธานสภา เขาเลือกแคนดิเดตนายกฯ เขาเลือกพรรคที่จะมาเป็นรัฐบาล เราก็ต้องตอบโจทย์ตรงนั้นให้ชัด อย่าเอาประเด็นอื่นที่ประชาชน ไม่ได้มอบหมายมาเป็นเงื่อนไขในการเจรจา ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้หากถือว่าเป็นเรื่องรอง ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่เจรจากันไม่ยาก


ส่วนกรณีที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่า อาจจะมีการเจรจากันมาก่อนกน้านี้ โดยพรรคเพื่อไทยเสนอตำแหน่งนี้ไปที่พรรคก้าวไกล แล้วทางพรรคก้าวไกลบอกว่าจะแจ้งกลับมา แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้มีการแจ้งกลับมา ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ท่านเลขาประเสริฐ ให้สัมภาษณ์ไป คือ ต่างฝ่ายต่างมีคณะเจรจา อย่างพรรคเพื่อไทย เราได้มอบหมายให้ท่านเลขาประเสริฐ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นผู้ไปเจรจา


โดยการเจรจามี 2 ลักษณะ คือ เป็นการคุยกันแบบไม่เป็นทางการ ปรึกษาหารือกันไปก่อน เมื่อมีข้อสรุปที่เป็นไปได้ ก็จะมานั่งโต๊ะเจรจากันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนที่ท่านเลขาประเสริฐพูดนั้น เป็นการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ เช่น เพื่อไทยต้องการอย่างนี้ ก้าวไกลจะว่าอย่างไร โดยยังไม่ได้มานั่งพูดคุยกันบนโต๊ะเจรจา เป็นเพียงการทาบทาม หรือเสนอความเห็นกันเท่านั้น


ส่วนกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาแสดงความคิดเห็น และตามด้วยอีกหลายๆ ท่าน ต่างออกมาพูดในความต้องการของตัวเองในที่สาธารณะนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นความต้องการ เหมือนข้อเสนอว่าฉันได้อยากได้นู่น อยากได้นี่ แต่ว่ายังไม่เป็นข้อตกลง  


เมื่อถามว่า แสดงว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่าต้องได้ตำแหน่งนี้เท่านั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยกำหนดเงื่อนไขถึงขนาดนั้น เพราะเราก็สำนึกตัวเองอยู่ตลอดว่า เราจะเป็นพรรคที่กำหนดเงื่อนไข ที่จะเป็นประเด็นที่ทำให้การเป็นรัฐบาลของประชาธิปไตยติดขัด หรือมีข้อขัดข้อง เราก็ไม่สบายใจ และจะตกเป็นจำเลยสังคม และอาจจะถูกมองว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งก็ต้องคุยกันว่าอะไรเหมาะสมที่สุด


นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า การร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยครั้งนี้เหมือนการแต่งงาน มันมีได้มีเสียจริงๆ อีกฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเสีย แต่ว่าจะหาจุดสมดุลยังไงแค่นั้นเอง ตนจึงเปรียบเทียบเหมือนการแต่งงาน เพราะหากได้เสียกันแล้ว จุดสุดท้ายคือเป็นไปตามที่ประชาชนคาดหมาย ทุกคนสมหวัง มีความสุขร่วมกันมันก็จบ


ส่วนกรณีที่ รศ.พิเศษ ดร.อดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ออกมาพูดว่า พรรคก้าวไกลจะมากินรวบไม่ได้ เพราะพรรคก้าวไกลเองก็ไม่ได้ได้เสียงเกินครึ่ง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของคุณอดิศร ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในวางการการเมืองมายาวนาน


เมื่อถามว่ากรณีที่คุณอดิศร เสนอให้ไปโหวตประธานสภา กันในสภา จะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นการจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของ 2 พรรค จะจบไปด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็เป็นการแสดงความเห็น โดยการยุติด้วยเสียงข้างมาก โดยทุกคนมีความเห็นต่าง การที่จะเอาความเห็นต่างมาเป็นความเห็นร่วมได้ในระบอบประชาธิปไตยฯ คือทุกคนต้องยอมรับในการตัดสินด้วยเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่คุณอดิศรเสนอ ส่วนมันจะเหมาะสมหรือไม่ ต้องมาดูในรายละเอียด


ส่วนหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในสภา การจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของ 2 พรรค ไม่น่าจบไปด้วย เพราะต้องแยกกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร และเรามีข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้วชัดเจน ถ้าไม่เกิดความระแวงกัน ไม่สงสัยกัน มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานเพื่อดุลย์อำนาจกันอยู่แล้ว โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ


นพ.ชลน่าน ยังกล่าวอีกว่า การเป็นพรรครัฐบาลร่วมกันที่พรรคเพื่อไทยมี 141 เสียง และพรรคก้าวไกลมี 151 เสียง ในมุมของตนเรื่องโหวตประธานสภา ในรัฐสภานั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอาจจะเกิดข้อแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ยกตัวอย่าง ฝ่ายที่ไม่ได้มาร่วมรัฐบาลกับเรา เขามี 188 เสียง หากเขาเสนอแข่งมา ตำแหน่งประธานสภาก็อาจจะเป็นของพรรคฝ่ายค้าน เพระฉะนั้นควรจะคุยกันให้จบ


เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาประธานสภาฯมักเป็นของพรรคอันดับหนึ่ง การที่เพื่อไทยขอแบบนี้จำให้ถูกมองว่างอแง หรือไม่


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การจะตั้งสมมติฐานว่าพรรคเบอร์ 1 ต้องได้ประธานสภา ก็พูดได้ และไม่ใช่เพื่อไทยงอแงจะเอา แต่ในนามเพื่อไทย มองว่าความสมเหตุสมผล ดุลย์อำนาจการทำงานร่วมกันขณะที่เสียงไม่ห่างกันมาก อีกฝ่ายเป็นพรรคร่วม แต่ไม่มีศักดิ์ศรีเลย การกดทับถูกกดขี่ ในมิติทางสังคม ก็เป็นเหตุให้การทำงานร่วมกันไม่ได้ ต้องหาจุดที่เหมาะสมที่ทุกคนมีที่อยู่ที่ยืน อย่างมีศักดิ์ศรี เว้นแต่พรรคารเมืองมีเสียงขาดไปเลย เยอะมากกว่ากันมาก ก็ไม่ควรจะไปงอแง ต้องมองมุมนี้ คำว่ามีศักดิ์ศรีคือที่อยู่ทำงานรว่มกัน ไม่ใช่การเจรต่อรองแต่เป็นภาพของสมดุลย์ในการเป็นพรรคร่วมที่ทำงานร่วมกันได้ราบรื่น


อย่าลืมว่าการเมืองคือการเจรจาที่คำนึงผลประโยชน์โดยรวม ถ้าอีกฝ่ายถูกกดเหยียบมาก บริบทการเมืองยุคใหม่ ยุคดิจิตอล เหมือนทุกคนมามีส่วนร่วมในที่ประชุมเลย ทำให้การทำงานด้วยกันมันจะลำบากกว่ายุคเดิม เพราะฉะนั้นสถานะต้องเท่าเทียมเสมอภาคบางเรื่องมันควรจะมีดุลยภาพกัน อันนี้เป็นการเมืองยุคนี้นะ"


เมื่อถามว่า ถ้าสมมติเจรจากันแล้ว สิ่งที่ได้รับกลับมา รู้สึกว่าอยู่อย่างไม่สมศักดิ์ศรี ก็คงแยกจากกัน


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอบว่าคงไม่เกิดเหตุการณ์นั้น สองพรรคต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้ เพราะเราหมายมั่นปัั้นมือแล้ว เพราะถ้าแยกกันก็ทำให้ผู้สืบทอดอำนาจยิ้ม แล้วเอาชิ้นปลามันไปกิน มันไม่ดีนัก นั่นคือไปทำลายเป้าหมายหลักไปแล้ว เป้าหมายหลักคือ รัฐบาลประชาธิปไตย มีนายกฯชื่อพิธา หรือถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา นายกฯก็ยังอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย นั่นคือเป้าหมายสูงสุด ถ้าเรามีเป้าหมายร่วมกัน เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ต้องให้ใครมามัด มาผูก มันคือควสามเหมาะสม สมดุลย์ที่สุด


เมื่อถามว่าเพื่อไทยงอแง จะไปจับพปชร.แล้ว


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอบครั้งที่ 501 ว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะลงนาม MOUไปแล้ว แต่สิ่งที่จะทำงานร่วมกัน ก็ต้องคำนึงตลอดว่าไม่ควรสร้างภาพ (ทำให้เกิดภาพ) การแย่งตำแหน่ง แต่ต้องมาแบ่งงานกันทำ เพื่อเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยตามที่ประชาชนคาดหวัง


เมื่อถามว่าในมุมก้าวไกล ถ้าเป็นประธานสภา ก็จะสบายใจกว่าในวันเสนอโหวตนายกฯ เช่นถ้ารอบแรกโหวตไม่ผ่าน อาจเสนอโหวตอีก แต่ถ้าประธานสภาเป็นของเพื่อไทย หากรอบแรกไม่ผ่าน รอบที่สองอาจเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยเลย


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า "เป็นสมมติฐานที่มองข้ามขัั้น เพราะก่อนเสนอชื่อโหวต ต้องเจรจากันแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งชื่อโดยไม่ได้ตกลงกันในพรรคร่วม มันจะไปส่งชื่อคนที่เราไม่ได้ตกลงได้ยังไง.. นั่นหมายความว่า ถ้าทำแบบนั้น มันแยกสลายพรรคร่วมไปแล้ว ซึ่งเพื่อไทยก็ยืนยันแล้วว่า ไม่แย่งจัด ไม่รอส้มหล่ม พูดไปชัดเจนแล้ว ถ้าทำแบบนั้นเท่ากับเพื่อไทยแย่งจัด ต้องเป็นไปตามข้อตกลงพรรคร่วม


ถ้าโหวตไม่ได้พรรคร่วม 8 พรรคก็ต้องมาหารือกันว่าจะเอายังไง ถ้าทุกคนเห็นว่าเสนอชื่อคุณพิธาไปใหม่ ก็ต้องมีคำถามกลับว่า แล้วเราจะโหวดผ่านได้ไง จะผ่านได้ไง ถ้าเงื่อนไขแบบเดิมๆ ไม่เจรจาเพิ่ม ไม่หา ส.ส.เพิ่ม ไม่หา สว.เพิ่ม ส่งไปแล้วไม่ได้รับการโหวต จะส่งไปทำไม ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่ต่างกันเพื่อให้ได้คะแนน ต้องเอาความจริง แล้วจะไปอ้างอิงว่ากลัวจะไม่ได้โหวตซ้ำ กลัวจะไม่ผลักดันกฎหมายให้ อันนี้เป็นสมมติฐานที่ไม่จริง ต้องดูหน้าที่ อำนาจประธานสภาให้ชัดแจ้ง ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่มีคำถามเรื่องนี้


ส่วนกรณีที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โยนชื่อ นพ.ชลน่านมาชิงตำแหน่ง


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า "เท่าที่ฟัง เลขาฯพรรคไม่ได้โยนชื่อผม แต่สื่อถามว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เหมาะสมไหม ..คนตอบก็ตอบว่าเหมาะสม ..ถ้าตอบว่าไม่เหมาะสม แล้วผมจะเอาหน้าไว้ตรง ขนาดเลขาธิการพรรคยังตอบว่าไม่เหมาะสม มันเป็นการตอบตามคำถาม ว่าเหมาะสม เป็น ส.ส. 6 สมัย เป็นหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน และคนอื่นๆก็เหมาะสม"


มีการบอกว่าจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ลงตัว ไม่รู้จะเอาหัวหน้าพรรคไปกระทรวงไหน เลยเอาไปตำแหน่งประธานสภาฯ


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า "มโนจริงๆ เหมือนการกำจัดผมออกจากพรรค เป็นการวิเคราะห์เกินความจริง ในพรรคไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาไม่ได้จะเสนอชื่อผมเป็น เรายังไม่ได้คุยกัน สมมติว่าได้ตำแหน่งมาจริง ใครจะเหมาะสม เพราะมีผู้อาวุโส ผู้ทรงคุณวุฒิเยอะแยะ ที่จะทำงานอย่างสมเกียรติภาคภูมิ"


ถามว่ายืนยันเป้าหมายหลัก คือ ต้องได้รัฐบาลประชาธิปไตยโดยสนับสนุนให้พิธา เป็นนายกฯคนที่ 30 ให้ได้


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยืนยันล้านเปอร์เซ็นต์ จับมือกันต่อไป ไม่มีงอแง หาเรื่องตีจาก "มากกว่าล้านก็ได้ และยินดีจะยืนยันตลอด"

คุณอาจสนใจ

Related News