สังคม

“สอบสวนกลาง(CIB) ทลายเครือข่ายแก๊งนายทุนเวียดนาม แอบอ้างชื่อแพทย์ดัง หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท”

โดย onjira_n

3 พ.ค. 2566

5.5K views

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์  นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ปัญญา  กล้าประเสริฐ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว, พ.ต.อ.ภาคภูมิ  ศรีลาภะมาศ, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์  เกศะรักษ์, พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์  พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย  นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าวกรณี ทลายเครือข่ายนายทุนชาวเวียดนาม แอบอ้างบุคลากรทางการแพทย์ชื่อดังหลายราย ดำเนเนคดีกับผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 27 รายการ มูลค่าความเสียหาย 61,354,000 บาท

พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งจาก พญ.ณิชา (สงวนนามสกุล) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ศูนย์โรคผิวหนังโรงพยาบาลกรุงเทพ ว่าพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “โรคผิวหนังในโรงพยาบาล - พญ.ณิชาฯ (https://www.facebook.com/SorionST5/) นำชื่อ-นามสกุลของตน ไปแอบอ้างทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายรายการ ตามเพจเฟซบุ๊กอย่างแพร่หลาย โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่ามีการใช้ชื่อแพทย์ตามโรงพยาบาลชื่อดัง 3 ราย โดยมีการตัดต่อรูปภาพแพทย์ รวมถึงแอบอ้างสถานพยาบาลต่างๆ มาประกอบการโฆษณา โดยมีการจัดทำผู้ซื้อสินค้าและผู้รีวิวการใช้ปลอมขึ้น เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อในตัวแพทย์ และอวดอ้างสรรพคุณของสินค้าเกินความจริงว่าสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้ เช่น ท้าทุกอาการ ทา 5 วัน ไร้คันช่วยปกป้อง, เสริมสร้างการทำงานของตับ, ช่วยในการฟื้นตัวของร่างกาย กำจัดเชื้อโรค


จากภายในร่างกายจากเม็ดเลือด และช่วยในการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น โดยมีการขายในลักษณะ Call-Center คือเมื่อมีผู้บริโภคทำการสั่งซื้อ โดยกรอกรายละเอียดของผู้ซื้อพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับผ่านเว็บไซต์ หรือกล่องข้อความทางเพจเฟซบุ๊ก จะมีการติดต่อกลับซึ่งเป็นข้อความในรูปแบบข้อความอัตโนมัติ เพื่อบรรยายสรรพคุณเกินจริง โน้มน้าวให้ผู้ซื้อหลงเชื่อตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งหลังจากที่ผู้บริโภคได้ใช้สินค้า แล้วพบว่าไม่ได้ผลตามโฆษณา ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะปล่อยผ่านไปไม่มาแจ้งความร้องทุกข์ จึงเป็นการเอาเปรียบหลอกลวงผู้บริโภคที่คาดหวังผลการรักษา ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงทำให้เสียโอกาสทางการรักษาโรคที่ถูกต้อง

เมื่อทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM ที่เว็บไซต์ดังกล่าวขาย พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่แสดงฉลากภาษาไทย, ไม่มีการแสดงเลข    สารบบอาหาร และเครื่องสำอางไม่มีการแสดงเลขจดแจ้ง จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำผิด พบว่ากลุ่มดังกล่าวนายทุนชาวเวียดนามมีส่วนเกี่ยวข้องในการเปิดเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ที่ใช้โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Sorion เป็นจำนวนมาก รวม 27 เพจ เพื่อกระจายการโฆษณาหากถูกปิดกั้นเพจ โดยมีการโฆษณาขายสินค้าและรับออเดอร์สินค้าอยู่ที่ประเทศเวียดนาม และทำการส่งข้อมูลการจัดส่งสินค้าให้กับพนักงานในประเทศไทย ทำการบรรจุและจัดส่ง โดยมีผู้สั่งการในประเทศไทยเป็นชาวเวียดนามทำหน้าที่ดูแล สั่งการอีกทางหนึ่ง

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำหมายศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ ค.297/2566

เข้าทำการตรวจค้น สถานที่เก็บและบรรจุสินค้า ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบนายเสน่ห์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับว่าตนมีหน้าที่ปิดฉลาก-บรรจุสินค้าลงบรรจุภัณฑ์ และจัดส่งให้กับลูกค้า แสดงตนเป็นพนักงานของสถานที่ดังกล่าว เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM,ผลิตภัณฑ์เสริมอารลดน้ำหนักยี่ห้อ lishou  และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 13 รายการ

จากนั้นได้ทำการสืบสวนขยาบผลทราบว่ามีสถานที่เก็บ, บรรจุ และจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายอีกแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ซ.๓๗ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว พบ นายชัยพร (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นพนักงานของสถานที่ดังกล่าว มีหน้าที่บรรจุสินค้าลงบรรจุภัณฑ์และจัดส่งให้กับลูกค้า เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL


SKIN CREAM, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อ lishou และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 14 รายการ

สอบถาม นายชัยพรฯ พนักงานของสถานที่ดังกล่าว แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของ น.ส.แก้ว หรือ MISS TIEU NY (สงวนนามสกุล) สัญชาติเวียดนาม ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์ และสั่งการอยู่ที่ประเทศไทย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ Miss TIEU NY (สงวนนามสกุล) นายจ้างชาวเวียดนาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ในเวลาต่อมา โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา Miss TIEU NY และ น.ส.สุวิมล (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน “ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง, ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง และร่วมกันจำหน่ายอาหารโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้องโดยไม่แสดงฉลากเป็นภาษาไทย” ตรวจยึดของกลาง จำนวน 27 รายการ มูลค่าความเสียหาย 61,354,000 บาท โดย น.ส.สุวิมลฯ รับว่าตนเป็นเจ้าของสถานที่ ทำหน้าที่ดูแล และแพ็คสินค้าตามออเดอร์ของ นายจ้างชาวเวียดนาม ชื่อ น.ส.แก้วฯ หรือ Miss TIEU NY โดยรับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท และทำมาแล้วประมาณ 1 ปี



การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

2. พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 (4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6 (10) ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

4. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 32(4) ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 32(1) ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

5. กรณีการนำเข้าข้อมูลเท็จและโฆษณาสินค้าดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ฐาน "นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ" ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และ ข้อหา "โฆษณาเครื่องสำอางเป็นเท็จ" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนจนสามารถจับกุมผู้ค้าตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้จำนวนมาก  

ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้เป็น ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย ลักลอบนำเข้า และพบการโฆษณาหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ไม่มีหลักฐาน หรือผลการทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน จึงขอเตือนผู้บริโภคว่า ไม่มีอาหารหรือเครื่องสำอางที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ โฆษณาเกินจริง ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข

จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.อนันต์  นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าขอให้ระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่โฆษณาหลอกลวงเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักภายใน 7 วัน, รักษาเบาหวาน, รักษาเชื้อรา, รักษาหลอดเลือด, รักษาต่อมลูกหมาก, อายุยืนทำความสะอาดหลอดเลือด, ถ่ายพยาธิ,

เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ, เรียกความจำคืน, เพิ่มขนาดหน้าอก, แก้ปัญหาการได้ยิน, ลดริ้วรอยย้อนอายุไป 30 ปี เป็นต้น และหากผู้บริโภคหลงเชื่อสั่งซื้อสินค้ามาใช้ อาจทำให้ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ และทำให้เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทาง บางรายอาจส่งผลต่อสุขภาพ และขอเตือนไปยังผู้คิดจะกระทำความผิดหลอกลวงคนอื่นด้วยวิธีการเอาความเจ็บป่วย, สรรพคุณการรักษา หรือชื่อเสียงของแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ มาหลอกลวงขายสินค้าให้กับผู้บริโภค หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา



คุณอาจสนใจ