สังคม

เร่งสอบ 'เบนท์ลีย์' ชนแหลก สวมทะเบียนหรือไม่? ด้านกรมวิทย์ฯ ยันเจาะเลือด-เป่าแอลฯ ค่าเท่ากัน

โดย panwilai_c

12 ม.ค. 2566

56 views

คืบหน้ากรณีรถเบนท์ลีย์ซิ่งบนทางด่วนชนกับรถปาเจโรและรถดับเพลิง แม้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว แต่มีรายงานว่ารถเบนท์ลีย์ อาจจะสวมทะเบียน ซึ่งพนักงานสอบสวนเร่งตรวจสอบ



ความคืบหน้ากรณีรถเบนท์ลีย์พุ่งชนรถปาเจโร ทำให้ไปชนกับรถดับเพลิง บนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา แม้ตำรวจจะแจ้งข้อหาเรื่องเมาแล้วขับ และขับรถประมาทหวาดเสียว กับ นายสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ ไปแล้ว แต่คดีนี้ยังไม่จบ



เพราะมีรายงานว่า รถยนต์คันนี้เคยถูกอายัด เพราะสำแดงเอกสารการนำเข้าเท็จ มีการปลอมราคารถให้ถูกกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐเสียรายได้หลายล้านบาท ซึ่งขณะนั้นตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเป็นผู้จับกุมและทำสำนวนส่งฟ้อง ตั้งแต่ปี 2555 แต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าเอกสารที่ได้มาจากประเทศอังกฤษรับฟังไม่ได้ เพราะขาดการรับรองลายมือชื่อ (Notary public) เท่ากับว่ารถคันนี้ไม่ถือว่าผิด จึงนำมาสู่การขายในตลาดได้



ทีมข่าวจึงสอบถามไปยัง พลตำรวจตรี พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ผบก.ปอศ. บอกว่า กำลังตรวจสอบว่าเป็นคันเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากในช่วงปี 2555-2556 มีคดีลักลอบนำเข้ารถยนต์หรูจำนวนมาก



แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า ทะเบียนรถเบนท์ลีย์ ไม่ตรงกับรถของกลางในครั้งนั้น แต่ป้ายทะเบียนสามารถเปลี่ยนและออกใหม่ได้ ซึ่งกำลังตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนป้ายทะเบียนหรือไม่ รวมถึงจะประสานไปยัง สน.ทางด่วน1 เพื่อขอเลขแซสซี เลขตัวถังรถเพื่อตรวจสอบว่าเป็นรถคันเดียวกันหรือไม่



ขณะที่พันตำรวจโท พิเชษฐ์ ก้อนแพง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) งานศูนย์ควบคุมจราจร1 สน.ทางด่วน 1 ตำรวจผู้รับผิดชอบคดีนี้ เปิดเผยว่า ให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้าไปตรวจสอบเลขเครื่อง เลขตัวถัง และรายละเอียดทั้งหมดแล้ว และประสานข้อมูลไปยังกรมขนส่งทางบก ว่ามีการสวมทะเบียนหรือไม่ แต่หากพบว่ามีการกระทำความผิด ก็จะดำเนินการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม รวมถึงได้ส่งคลิปวงจรปิดให้กองพิสูจน์หลักฐาน ของกองบังคับการตำรวจจราจรคำนวณเรื่องความเร็วแล้วเช่นกัน ว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือไม่



นอกจากนี้ยังสอบปากคำหมอ ตามที่ผู้ต้องหาอ้างว่า มีอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ประเด็นเรื่องของการถ่วงเวลาเพื่อให้ปริมาณแอลกอฮอร์ในเลือดลดลง เพื่อนำไปประกอบสำนวนส่งให้ศาล



อีกหนึ่งประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตจากแพทย์ด้านป้องกันอุบัติเหตุ ถึงการต่อสู้ในชั้นศาลของผู้ขับเบนท์ลีย์ ที่ถูกตั้งข้อหาเมาแล้วขับ อาจใช้ประเด็นเป่าแอลกอฮอล์ไม่ได้มาตรฐานเท่าเจาะตรวจเลือดมาแก้ต่าง จากที่ปฏิเสธการเป่าตั้งแต่ต้น ทีมข่าวมีคำตอบจาก กรมวิทยาศาสตร์ ยืนยัน ผลตรวจทั้ง 2 วิธี มีค่าที่ออกมาเท่ากันใช้เป็นหลักฐานทางคดีได้เหมือนกัน



โดยนายอาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กรณีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ทั้ง 2 วิธีการ คือ การวัดวิธีเป่าลมหายใจ และวิธีการตรวจเลือด ถือว่ามีมาตรฐานที่ให้ผลการตรวจใกล้เคียงกัน และสามารถใช้ผลการตรวจอ้างอิงได้ในทางกฏหมาย ซึ่งโดยปกติแล้วใน กรณีที่พบว่าผู้ขับขี่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มา เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ควรตรวจวัดทันที



ส่วนจะใช้วิธีการใดขึ้นอยู่กับความสะดวกและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บ ที่บริเวณระบบทางเดินหายใจรุนแรง จนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยวิธีเป่าลมหายใจได้ สามารถเลือกใช้วิธิการตรวจจากเลือด



โดยเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะทำการเจาะเลือด เก็บตัวอย่างตรวจ ซึ่งควรเก็บตัวอย่าง ภายใน 6 ชั่วโมง หลังเกิดอุบัติเหตุและส่งตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการ


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/4VPLgM7EznI

คุณอาจสนใจ

Related News