สังคม

ผบ.ทร.แจงไทม์ไลน์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง รับเสื้อชูชีพไม่เพียงพอ บอกถึงใส่ก็ใช่ว่าจะรอดทุกนาย

โดย paranee_s

20 ธ.ค. 2565

102 views

วันนี้ (20 ธ.ค.) พลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และพลเรือเอกชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคืบหน้าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ว่า กองทัพเรือขอสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับกำลังพลของเรือหลวงที่บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกนายให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประทานยาและเวชภัณฑ์ให้กับกำลังพลและผู้ประสบภัยทุกนาย นับเป็นพระมหากรุณาที่คุณของกองทัพเรืออย่างหาที่สุดมิได้


โดยผบ.ทร.ยืนยัน ขณะนี้พบผู้ประสบภัยเพิ่ม 6 นาย เสียชีวิต 4 รายอีก 2 ราย อยู่ระหว่างการดูแลของแพทย์ และยังคนปฏิบัติการค้นหากำลังพลที่สูญหายต่ออีก 24 นาย ทำให้ขณะนี้พบกำลังพลแล้วทั้งหมด 81 นาย จากทั้งหมด 105 นาย


จากนั้นไล่เรียงไทม์ไลน์ถึงเหตุการณ์ที่ขึ้น ตั้งแต่เรือหลวงสุโขทัยออกจากฐานทัพเรือสัตหีบไปปฏิบัติภารกิจสนับสนุนงานครบรอบ 100 ปี กรมหลวงชุมพรที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. แต่สภาพอากาศไม่สามารถเทียบเรือได้ จึงขอกลับมาจอดที่ท่าเรือบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ แต่ระหว่างทางมีคลื่นลมแรง ทะเลมีคลื่นสูง 3-4 เมตร และพบเรือสินค้าจมหลายลำ


ผบ.ทร.ระบุว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นขณะเกิดเหตุ มีน้ำเข้าเรือจำนวนมากจากบริเวณหัวเรือ ทำความเสียหายแก่ระบบไฟ และเครื่องจักร ซึ่งทางเรือพยายามแก้ไข แต่ไม่สามารถสู้กับกระแสน้ำทะเลที่เข้ามาได้ เพราะท่วมระบบเครื่องจักรหลายส่วน เริ่มจากเครื่องยนต์ทางซ้ายไปขวา และใบจักรสุดท้ายน้ำท่วมเครื่องจักรทั้งหมด จนมีสภาพเรือเอียง


ซึ่งระหว่างเรือประสบปัญหาก็ได้ความช่วยเหลือจากทัพเรือภาคหนึ่ง จึงสั่งการเรือหลวงอ่างทอง เรือภูมิพล พร้อมอากาศยานเข้าช่วยเหลือ และเรือหลวงกระบุรีที่อยู่ใกล้ที่สุดเข้าช่วยเหลือ แต่คลื่นลมแรงมากไม่สามารถทำการช่วยเหลือได้


สำหรับมาตรการช่วยชีวิต กำลังพลทุกนายมีเสื้อชูชีพทุกนาย และพร้อมจะสละเรือใหญ่ รวมทั้งแพรชูชีพด้วย ซึ่งแพรชูชีพ สามารถจุได้ประมาณ 10 คน และมีอยู่ 6 อัน แต่เรือหลวงสุโขทัยมีสภาพเอียงคงที่ และคิดว่ายังสามารถเคลื่อนย้ายได้เข้าชายฝั่งเทียบท่าเรือบางสะพานได้ จึงไม่มีการเคลื่อนย้ายกำลังพล


โดยมีเรือหลวงกระบุรีคอยช่วยอยู่ตลอด แต่เมื่อเรือเริ่มเอียงจนจมจากท้ายเรือ จึงสั่งกำลังพลสละเรือ และเรือหลวงกระบุรีก็ส่งเรือเล็กเข้าช่วยกำลังพลที่ลอยกระจัดกระจาย รวมถึงเรือทักประจวบ 4 และประจวบ 5 ของบางสะพาน 2 ลำ รวมทั้งเรือสินค้า ก็ช่วยได้อีกเกือบ20 คน


ซึ่งขณะนั้นยังสูญหายอีก 30 คน แต่บนเรือหลวงกระบุรีก็มีผู้บาดเจ็บที่สูญเสียเลือดมาก มีความเสี่ยงต่อชีวิต จึงกลับเข้าฝั่งนำส่งกำลังพลที่บาดเจ็บส่งรักษาตามอาการ


จากนั้นวันต่อมา (หรือก็คือวานนี้) เรือหลวงกระบุรีกลับมาค้นหากำลังพลที่สูญหายต่อ และมีการรายงานตามขั้นตอนตลอด ซึ่งกองทัพเรือจะต้องมีการรายงานเหตุการณ์ตามระเบียบ เป็นการรายงานด่วนถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


กองทัพเรือมีระเบียบว่าด้วยการป้องกันอุบัติเหตุและความเสียหาย ที่ต้องให้หน่วยที่เป็นผู้บัญชาการของเรือก็คือทัพเรือภาค 1 รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รายงานความสูญเสียทั้งในเรื่องของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ จากนั้นจะมีการรายงานเรื่องของระเบียบความรับผิดชอบทางละเมิด ที่จะต้องรายงานข้อเท็จจริงไปถึงกระทรวงการคลัง และ นายกฯได้รับทราบ โดยจะสอบตั้งแต่ ผู้การเรือ ไปจนถึง กำลังพลทุกนาย ถึงเหตุการณ์เกิดขึ้น ขั้นตอนปฏิบัติ


เพราะฉะนั้นในรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุของเรือจมที่มีการกล่าวว่าเสื้อชูชีพไม่พอกับกำลังพล จะต้องถูกสอบสวนและรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่บางเรื่องที่เป็นความลับทางราชการก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารแต่ยืนยันขอให้มั่นใจโดยเฉพาะญาติของกำลังพลว่ากองทัพเรือจะมีการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา ยืนยันกองทัพเรือจะทำทุกอย่างเต็มที่ และยังเดินหน้าปฏิบัติการค้นหาและยังมีหวังเพราะล่าสุด พบผู้รอดชีวิตจากเวลาเกิดเหตุ ถึง41 ชั่วโมง ก็ยังมีชีวิต ซึ่ง 6 รายที่พบล่าสุดทั้งหมดสวมเสื้อชูชีพ


ผบ.ทร. ยังได้ชี้แจงถึงข้อสงสัยเรื่องเสื้อชูชีพไม่พอว่า ภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยในวันดังกล่าว นอกจากกำลังคนที่อยู่บนเรือแล้ว ได้มีการนำกำลังพลจำนวน 30 นายเพื่อไปร่วมงานครบรอบ 100 ปีก็มาหลวงชุมพรที่หาดหาดทรายรี ซึ่งเรือรบปกติจะมีเสื้อชูชีพประจำตัวของกำลังพลและเสื้อชูชีพสำรองจำนวนหนึ่ง นอกจากเสื้อชูชีพยังมี อุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ เช่น แพชูชีพ ห่วงยาง ลูกยางกันกระแทก ซึ่งเรือหลวงสุโขทัยทราบปัญหาดี ว่ามีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอต่อกำลังพลที่มาเพิ่มเติมอีก 30 คน ซึ่งก็ได้พยายามนำอุปกรณ์ และสิ่งที่ช่วยชีวิต ให้กับกำลังพลที่ไม่ได้มีเสื้อชูชีพ


“ใน 30 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพ มี 18 คนที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาแล้ว และมี 12 คนที่ยังอยู่ในทะเล ในขณะเดียวกันคนที่มีเสื้อชูชีพอีก 18 คนยังอยู่ในทะเล


เพราะฉะนั้น การมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรอดชีวิตและได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนเรือ ยังมีมาตรการในการช่วยเหลือ มีการกำหนดว่าใครเป็นบัดดี้ใครในกรณีไม่มีเสื้อชูชีพ และผู้ที่ไม่มีเสื้อชูชีพต้องได้ขึ้นแพชูชีพก่อน อย่ามองว่าคนไม่มีเสื้อชูชีพทั้ง 30 คนจะสูญเสียทั้งหมด เพราะตัวเลขแสดงให้เห็นแล้วว่า 18 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพได้ขึ้นมากับ 75 คนแรก และ 18 คนที่มีเสื้อชูชีพยังอยู่ในทะเล”


ผบ.ทร. ยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเหตุฉุกเฉิน ทำให้ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนและเรือก็จมลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเหตุขึ้นชุลมุนขึ้น แต่ยืนยันได้ดำเนินการตามแนวทางมาตรฐานการช่วยเหลือทุกขั้นตอน


สำหรับเรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือรบของกองทัพเรือที่มีสมรรถนะสูงเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2527 มีขีดความสามารถในการรบสามมิติ ทั้งการรบระดับผิวน้ำ การรบทางอากาศ และการรบใต้น้ำ เรือหลวงสุโขทัยมีเกียรติบัตรในการรับราชการมาอย่างต่อเนื่องเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจทั้งในเรื่องของการลาดตระเวนค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยการศึก การราชการในต่างประเทศ และเคยปฏิบัติงานในสภาพคลื่นลมแรงในทุกทะเลที่ผ่านมา


ปัจจุบันเรือหลวงสุโขทัยมีอายุ 36 ปี ซึ่งตามระเบียบและข้อกำหนดของกองทัพเรือกำหนดให้เรือขนาดใหญ่มีเกณฑ์ใช้ได้ถึงอายุ 40 ปี ซื้อเรือหลวงสุโขทัยยังมี สภาพและขีดความสามารถ ที่ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ


ส่วนกล่องดำของเรือหลวงสุโขทัยนั้น เนื่องด้วย เรือหลวงสุโขทัย มีอายุราชการถึง 36 ปี จึงไม่มีอุปกรณ์ที่จะมาบันทึกการดำเนินการของเครื่องยนต์หรือเครื่องจักร จะต้องใช้จากการสอบถามและสอบสวนข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องมาประมวลผล


สำหรับการกู้เรือหลวงสุโขทัย ได้แต่งตั้งให้ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานคณะกรรมการในการพิจารณาในการกู้เรือ ซึ่งการกู้เรือต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ คือ กองเรือทุ่นระเบิด ที่มีอุปกรณ์สำรวจใต้น้ำ เพื่อดูว่าเรือหลวงสุโขทัยจมมีสภาพเป็นอย่างไร มีลักษณะคว่ำ เอียง หรือ หงาย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาในการประชุมเจ้าหน้าที่เทคนิคและผู้เชี่ยวชาญในการกู้เรือ ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรคณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้ง


โดยคณะกรรมการชุดนี้จะดำเนินการคู่ขนานไป ทราบว่าบริเวณที่เรือจมลึก 40 เมตร กำหนดจุดไว้แล้วตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ การทำงานต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาว่าจะกู้ด้วยวิธีไหน


ขณะที่เรื่องงบประมาณในการซ่อมบำรุงนั้น ผบ.ทร. ระบุว่าได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำข้อมูลเรื่องงบประมาณซ่อมทำเรือโดยงบประมาณจะกระจายไปอยู่ในหน่วยเทคนิคที่รับผิดชอบซ่อมทำเรือ เช่นกรมอู่ทหารเรือ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ และกรมสรรพาวุธ เป็นต้น และมีการตรวจสอบงบประมาณย้อนหลังในแต่ละปี พบว่าการซ่อมบำรุงไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์แตกต่างกันยังคงเดิมแต่กองทัพเรือคำนึงถึงเรื่องการใช้งบการซ่อมยุทโธปกรณ์อย่างคุ้มค่า อีกทั้งพิจารณามีการปลดประจำการเรือที่หมดอายุการใช้งานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งปีนี้ปลดเรือตาปี และเรือตรวจการปืน และปีหน้ามีแผนปลดเรือหลวงคีรีรัฐ และเตรียมแผนงานต่อเรือฟิเกตลำใหม่


สำหรับการเยียวยา ผบ.ทร. ระบุว่าเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ กำลังพลผู้สูญเสียมีหลายชั้นยศ จะได้รับการชดเชยบำเหน็จ ตามระเบียบของรายการ เช่น ได้รับการเลื่อนชั้นยศ 5 ชั้นยศ เช่น นาวาตรี เป็นพลเรือโท นายเรือ เป็นนายนาวา รับเงินชดเชยจากที่กองทัพเรือได้ทำไว้ในกองทุน ประมาณ 1-2ล้านบาท แล้วแต่สิทธิของแต่ละคน


ภายหลังแถลงข่าวจบ พล.ร.อ.ชลธิศ ได้อัปเดตความคืบหน้าการค้นหาวันนี้ พบ 6 นาย นั้นจากตอนแรก รอดชีวิต 2 นาย เสียชีวิต 4 ราย แต่ล่าสุด ผู้รอดชีวิต 1 ใน 2 นาย เสียชีวิต ซึ่งผู้รอดชีวิต 1 นาย คือ ชื่อ พลฯ ชนัญญู แก่นศรียา สังกัด หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน


และช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ทวิตเตอร์ กองทัพเรือ ROYAL THAI NAVY รายงานว่า สรุปยอดค้นพบวันนี้ พบกำลังพล 7 นาย รอดชีวิต 1 นาย เสียชีวิต 6 นาย และยังคงสูญหาย 23 นาย

คุณอาจสนใจ

Related News