เลือกตั้งและการเมือง

"วิญญัติ" แจ้งเอาผิด "ศรีสุวรรณ" ปมร้องเท็จต่อ กกต.ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย

โดย nattakarn_l

15 ธ.ค. 2565

267 views

              นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.)  เข้าแจ้งความที่ สน.ทุ่งสองห้อง  ดำเนินคดีกับนายศรีสุวรรณ จรรยา  เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  จากกรณีที่นายศรีสุวรรณไปยื่นร้องต่อสำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุบพรรคเพื่อไทย  โดยกล่าวหาว่ากระทำผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูว่าด้วยพรรคการเมือง  ซึ่งถือเป็นการให้ความเท็จต่อ กกต. โดยน่าเชื่อว่านายศรีสุวรรณมีเจตนากลั่นแกล้ง กล่าวหาพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ชินวัตร ในลักษณะน่าจะเป็นการจงใจใส่ร้าย  โดยมิได้มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำของพรรคเพื่อไทย หรือหลักฐานชี้ชัดว่านายทักษิณ ชินวัตร  การควบคุม  ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยจริง

             นายวิญญัติ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่รับรู้กันทั่วไปว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ในปี 2570   ต่อมามีบุคคลต่างๆ หรือพรรคการเมืองอื่น  มาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังมีการประกาศนโยบายนั้นแล้ว    แต่นายศรีสุวรรณกลับนำมาเป็นพฤติการณ์เพื่อนำไปเชื่อมโยงให้เข้าลักษณะว่าเป็นการครอบงำ ชี้นำพรรคเพื่อไทย   โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ  การกระทำของนายศรีสุวรรณ จึงน่าจะเป็นการกระทำเข้าข่ายกระทำความผิด ฐานแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560  มาตรา 101 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และข้อหาฐานเป็นผู้รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่กลับแจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี  และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

             นายวิญญัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ตนเห็นว่าการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง  อันเป็นเสรีภาพแก่บุคคลจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  เปิดโอกาสในการกำหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง  จึงมีพรรคการเมืองหลากหลายที่มาจากการสนับสนุนของประชาชน  นี่คือสิ่งที่ต้องรักษาตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย  ไม่ใช่จะหาเรื่องยุบพรรคการเมือง  ทำลายหลักการประชาธิปไตย หรือใช้สิทธิใดๆที่ไม่สร้างสรรค์หรือไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมมาทำลายพรรคการเมือง    บุคคลต้องเคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่ต้องการให้พรรคที่ตนสนับสนุนได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง  มีการแข่งขันกันที่นโยบายของแต่ละพรรคและบุคคลที่เสนอตัวลงเลือกตั้ง และไปวัดกันด้วยการพิสูจน์ผลงาน   จึงไม่ควรใช้กระบวนการใดๆมาทำลายพรรคการเมืองด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผลอีก ตนจึงมาแสดงออกถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย

คุณอาจสนใจ

Related News