ข่าวโซเชียล
"หมอริท" โพสต์ถึง "โตโน่" ว่ายน้ำข้ามโขง ตั้งคำถาม ต่อให้พี่ว่ายอีก 10 รอบ ได้กว่า 1,000 ล้าน หมอ-พยาบาลเหนื่อยเท่าเดิม
โดย kanyapak_w
23 ต.ค. 2565
18.7K views
โลกออนไลน์ยังคงพูดถึง เกี่ยวกับกระแส "โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์" ทำภารกิจสำเร็จ ในสำหรับโครงการ “ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ว่ายน้ำข้าม 2 ฝั่งโขง (ไทย-สปป.ลาว) เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลทั้งสองฝั่งโขง โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน
ล่าสุด ยอดบริจาคทะลุ 60 ล้านบาทแล้ว ส่วนเป้าหมายของโครงการ ตั้งไว้ที่ 16,944,400 บาท อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตยังคงพูดถึงเกี่ยวกับประเด็นนี้ พร้อมตั้งคำถามกับสังคมว่า การเปิดรับบริจาคเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่
ล่าสุด หมอริท หรือ เรืองฤทธิ์ ศิริพานิชหมอริท คุณหมอ นักร้องและนักแสดงมากความสามารถได้ออกมาโพสต์ถึง โตโน่ หลังจากที่ทำภารกิจสำเร็จ ผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว @MhorRitz ระบุว่า
-ยินดีด้วยกับการ #ว่ายน้ำข้ามโขง ของพี่ #โตโน่ภาคิน ในวันนี้นะครับ ที่ปลอดภัย และได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก อย่างแรกต้องขอขอบคุณในน้ำใจและความเสียสละของพี่ที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ คนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อคนอื่นแบบพี่ ไม่ได้หาได้ง่ายเลย นับถือใจจริงๆ (1)
-ในบทสัมภาษณ์มีหลายครั้งที่พี่พูดว่า ที่พี่มาว่ายน้ำครั้งนี้ เพราะหมอและพยาบาลเค้าเหนื่อยกว่า เสี่ยงกว่า เลยอยากขออนุญาตฝากมุมมองไว้ซักนิดครับ เผื่อพี่อาจจะลืมมองเหตุผลพวกนี้นะครับ (ไหนๆคนก็สนใจโครงการพี่เยอะแล้ว) (2)
-1. ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1000 ล้าน หมอ พยาบาล เค้าก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ (3)
-(ซึ่งจริงๆดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม (4)
-ซึ่งทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนด ทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอๆก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆครับ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อยครับ (5)
-2. พี่บอกว่าหมอพยาบาลเสี่ยง คำถามคือ แล้วใครปล่อยให้หมอพยาบาลทำงานภายใต้ความเสี่ยง? ถ้ารู้ว่าเค้าทำงานแบบเสี่ยงอยู่ ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็นและไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริงๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค? (6)
-ส่วนตัวมองว่า การบริจาคไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่ที่มา หลักการ จุดประสงค์ของโครงการและการนำเงินไปใช้ต้องชัดเจน รวมถึงควรสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไปในตัวด้วยครับ ถ้าพี่สื่อสารจุดนี้ได้ด้วย คิดว่าคนไม่เห็นด้วยน่าจะน้อยลงนะครับ และทำให้โครงการของพี่ดูมีเหตุสมควรมากขึ้น (7)
โดยหลังจากที่โพสต์ออกไป มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากและล่าสุด #ว่ายน้ำข้ามโขง ก็ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ในไทยเป็นที่เรียบร้อย
แท็กที่เกี่ยวข้อง หมอริท ,ว่ายน้ำข้ามโขง ,โตโน่ว่ายน้ำข้ามโขง ,โตโน่