ต่างประเทศ

'เอดีบี' หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียแรง เหตุอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สงครามยูเครน และนโยบายโควิดของจีน

โดย nattachat_c

22 ก.ย. 2565

134 views

วานนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ได้ประกาศลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงอินเดีย และจีนด้วย


โดยคาดว่าปีนี้จะโตได้ที่ 4.3% ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ที่ 5.2% และในปีหน้า 2023 การเติบโตจะอยู่ที่ 4.9%


นอกจากนั้น ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3.7% ไปอยู่ที่ 4.5% ในปี 2022 ด้วย


ในส่วนของประเทศไทยนั้น เอดีบีเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนว่า เศรษฐกิจจะเติบโตในปีนี้ได้ที่ 3.0% แต่ล่าสุด ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.9% ถือว่าน้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ที่ถูกปรับดลงมาอยู่ที่ 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.3%


ส่วนชาติอื่นๆ ในอาเซียนล้วนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเวียดนามจะโตได้ที่ 6.5% อินโดนีเซียจะโตได้ที่ 5.4% มาเลเซียจะโตได้ที่ 6.0%  และฟิลิปปินส์จะโตได้ที่ 6.5%


เอดีบี ระบุว่า อัตราการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียนั้น จะอ่อนแอลงชัดเจน โดยเป็นผลมาจากผลกระทบจากทั้งวิกฤตสงครามในยูเครน การใช้มาตรการเข้มงวดในการป้องกันโควิดในจีน ซึ่งทำให้มีการล็อกดาวน์หลายระลอก และที่สำคัญคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ทัวโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ


ล่าสุด เมื่อคืนที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงตามความคาดหมายที่ 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯพุ่งขึ้นไปที่ 3.0-3.25% แล้ว


ทั้งนี้ เอดีบีระบุว่า แม้ว่าประเทศในเอเชียจะมีการใช้มาตรการผ่อนคลายโควิด-19 ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในภูมิภาค แต่เอดีบียังออกมาเตือน 'ลมปะทะระดับโลก' ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจในเอเชีย อาทิ ราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่สูงขึ้นตามมา


อัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าวว่า แนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยังคงมีความเสี่ยงสูง และได้ขอให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เฝ้าจับตาดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง


โดยเศรษฐกิจโลกขาลงจะส่งผลเสียอย่างมากต่อยอดการส่งออกของเอเชีย และการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ที่รุนแรงกว่าการคาดการณ์ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก เพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ยังสามารถนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน


อีกทั้งจีนที่เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย ก็ต้องรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ

คุณอาจสนใจ

Related News