พระราชสำนัก

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ม.ราชภัฏเพชรบุรี และม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

โดย parichat_p

3 ก.ย. 2565

75 views

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ประจำปีการศึกษา 2560 ถึง 2562


วันนี้ เวลา 10 นาฬิกา 43 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ประจำปีการศึกษา 2560 ถึง 2562 ณ หอประชุมสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในการนี้ พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน แล้วพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จำนวน 2 พัน 886 คน


มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตและกำลังคนเฉพาะทาง ให้มีสมรรถนะสูงด้านอาหาร การท่องเที่ยวและวิทยาการสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ศักยภาพของภูมิภาค ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารโดยองค์การ UNESCO เพื่อขยายผลเป็นเมืองจัดการประชุมนานาชาติ และเมืองเสบียงอาหาร พัฒนานักศึกษาให้มีทักษะชีวิตและสร้างนวัตกรรม ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม สร้างชุมชนต้นแบบ โดยได้รับรางวัล "มหาวิทยาลัยพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน" อันดับ 1 ของประเทศ ปี 2565


ในตอนบ่าย พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยามีมติมอบให้ พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี จำนวน 1 พัน 662 คน


มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ด้วยการสืบสานโครงการตามพระราชดำริ และนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับภูมิปัญหาท้องถิ่น และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม