สังคม

บุกจับแก๊งแอบอ้างเป็นธนาคารชื่อดัง หลอกเหยื่อกว่า 200 รายกู้เงิน ก่อนเชิดค่าดำเนินการหนี

โดย paranee_s

30 ส.ค. 2565

36 views

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 บุกทลายแก๊งปลอมเป็นคอลเซนเตอร์ธนาคาร หลอกเหยื่อกู้เงิน แต่ให้โอนเงินค่าดำเนินการก่อน หลังจากนั้นเชิดเงินหนี พบเหยื่อทั่วประเทศกว่า 200 คน เรียกค่าดำเนินการรายละ 300-1,000 บาท


เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 30 ส.ค.65 พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รองผบช.ภ.5 พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 (ศปอส.ภ.5) ทำการจับกุมตัว นายทักษพล อายุ 22 ปี ชาวอ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการ มีหน้าที่หาคนเปิดบัญชี จัดการการเงิน ทำเพจปลอม ยิงโฆษณา และควบคุมสั่งการแอดมิน นายอำนาจ อายุ 31 ปี, น.ส.อาทิตยา อายุ 22 ปี, นายมน อายุ 21 ปี, นายจักรกฤษณ์ อายุ 23 ปี และน.ส.ธัณณมน อายุ 22 ปี


โดยตำรวจนำตัวทั้งหมดดำเนินดคีข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น โดยได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ ประชาชน,โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน"


การจับกุมครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งความจากประชาชนกว่า 200 คนทั่วประเทศ ว่ามีแอปกู้เงิน ที่ใช้โลโก้ธนาคารชื่อดัง มาทำการหลอกลวงประชาชนว่าจะให้กู้เงินด่วนรายละ 20,000 บาท พอประชาชนหลงเชื่อกดเข้าไปดูก็จะแอดไลน์และให้กรอกเอกสาร ส่งเอกสาร และเสียค่าธรรมเนียมรายละ 300-1000 บาท


เมื่อประชาชนหลงเชื่อโอนเงินไปก็จะถูกบล็อกช่องทางการติดต่อ และเชิดเงินหนีหายไป ซึ่งมีประชาชนถูกหลอกว่า 200 คน มูลค่าความเสียหายหลายแสนบาท หลังรับแจ้งทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่ามีผู้เกี่ยวข้อง 6 คน จึงออกหมายจับและบุกเข้าจับกุมตัวได้ที่บ้านพักในตัวเมืองเชียงราย


พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รองผบช.ภ.5 เปิดเผยว่ากลุ่มคนร้ายแอบอ้างใช้ภาพของธนาคารชื่อดัง หลอกลวงประชาชน ผ่านเพจเฟซบุ๊กเงินกู้ที่ชื่อ "สินเชื่อมณีทันใจ v.2" หรือ "จามจุรี ช่วยเหลือ V.88" หลอกลวงประชาชน ซึ่งทุกคนเมื่อกดเข้าไปดูกรอกข้อมูล แล้วโอนเงินค่าธรรมเนียมก็จะถูกเชิดเงินหนีหายไป มีผู้เสียหายกว่า 200 รายทั่วประเทศ


ทางตำรวจภูธรภาค 5 ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสังเกตแอปเงินกู้ออนไลน์ที่หลอกลวง รูปแบบและรายละเอียดของแอป จะมีดังนี้ ประกาศปล่อยเงินกู้ผ่านทางเฟซบุ๊กหรือช่องทางอื่น ๆ โดยมักจะคิดดอกเบี้ยไม่สูงมากและมีคำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามากู้เงิน เช่น กู้เงินด่วนให้วงเงินสูง ดอกเบี้ยน้อย กู้ง่ายได้เงินเร็ว ไม่ต้องค้ำประกัน เป็นต้น เมื่อมีคนติดต่อไปมิจฉาชีพจะทำทีเป็นขอเอกสาร เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขออนุมัติเงินกู้ เช่น สำเนาบัตรประชาชน หน้าสมุดบัญชี และสำเนาทะเบียนบ้าน


คนร้ายจะทำทีเป็นขอเวลาตรวจสอบก่อนจะแจ้งว่า “อนุมัติให้กู้” จากนั้นคนร้ายจะบอกให้ผู้กู้โอนเงินค่าดอกเบี้ยไปให้ก่อนในงวดแรก ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการให้กู้ได้ ในส่วนนี้คนร้าย อาจอ้างเป็นในส่วนของค่าดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก่อนจะได้รับเงินก้อนเมื่อผู้กู้โอนค่าดอกเบี้ยไป คนร้ายก็จะหายเงียบไปพร้อมกับเงินนั้นที่ผู้เสียหายโอนไป หากท่านต้องการกู้เงินควรเลือกผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ถูกกฎหมาย ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย


คุณอาจสนใจ

Related News