เลือกตั้งและการเมือง

"ศักดิ์สยาม" ลั่น ให้ผู้ว่าฯคนใหม่ไปดู ปมเคาะราคารฟฟ.สายสีเขียว "ชัชชาติ" แจง เก็บไม่เกิน 59 บาททั้งสายเป็นเพียงแนวคิดระยะสั้น

โดย kanyapak_w

28 มิ.ย. 2565

509 views

“ศักดิ์สยาม” ลั่น “ก็ให้ผู้ว่าฯท่านใหม่ไปดู ท่านเก่ง” ปม “ชัชชาติ” เคาะราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว เผยที่ผ่านมา คมนาคม-กทม. หารือกันตลอด บอกต้องไปดูต้นทาง หากกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดหมด



28 มิ.ย.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงประเด็นปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวทางกำหนดค่าโดยสารสูงสุดที่ 59 บาท



นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ต้องรอดูความชัดเจน ต้องไปดูต้นเรื่อง ส่วนตัวได้มีการหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นต้องไปดูที่ต้นทางว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งเปรียบเสมือนการสวมเสื้อหากติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ต้องแก้ใหม่ทั้งหมด ส่วนจะกลัดถูกได้เมื่อไหร่นั้น คงต้องไปดูที่ศูนย์รับผิดชอบอื่นที่นอกเหนือจากกระทรวงคมนาคม



ซึ่งที่ผ่านมาปลัดกระทรวงได้มีการเชิญปลัดกรุงเทพมหานครหารือร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งมีเรื่องของเอกสารที่ทางกระทรวงคมนาคมขอจากทางกรุงเทพฯไปก็ยังไม่ได้ และยังคงดำเนินการขออยู่ เพราะในเนื้อหานั้นจะมีรายละเอียดของสัญญารถไฟฟ้า และหากทุกเรื่องดำเนินการตามกรอบกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีรวมถึงหลักธรรมาภิบาลที่ต้องโปร่งใสประชาชนมีส่วนร่วม ก็สามารถเดินหน้าได้หมด และส่วนตัวก็ได้มีการสั่งการให้ดำเนินการทั้งหมดในส่วนนี้แล้วแต่ต้องรอทางกรุงเทพมหานครด้วย



ผู้สื่อข่าวถามว่ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตรงไหน นายศักดิ์สยาม ตอบซ้ำว่าต้องไปดูการเริ่มต้นของการก่อหนี้ ยืนยัน นโยบายที่มอบไปเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนตัวไม่เคยขัดขวางการเดินหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย



เมื่อถามว่าเรื่องหนี้ นายชัชชาติ ระบุว่าเป็นของ รฟม. ที่โอนมาให้ กทม. นายศักดิ์สยามตอบว่าต้องแยกกัน หนี้ไหนที่ถูกต้องก็ต้องว่ากันไป อันไหนไม่ถูกต้องไปพิจารณา



นายศักดิ์สยาม กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนของเอกชน ต้องให้เอกชนดูไป ส่วน รฟม.ก็เป็นของรัฐ มีวิธีการบริหารหนี้ของรัฐ ยืนยันว่ามีกระบวนการอยู่แล้ว อย่าไปเอาเรื่องทุกเรื่องมาผสมกัน



“ก็ให้ผู้ว่าฯ ท่านใหม่ไปดู ท่านเก่ง”



ล่าสุด วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงคนเข้าใจเกี่ยวกับราคาค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่พูดไปว่าควรเก็บไม่เกิน 59 บาท เป็นเพียงแนวคิดระยะสั้น แก้ปัญหาช่วงเป็นหนี้ค่าบริการเดินรถ ไม่ได้หมายถึงแผนระยะยาว ที่ยังมีสัญญาถึงปี 2572 ยืนยันราคาค่าบริการรถไฟฟ้าสายที่เขียว ค่าเฉลี่ยที่คนใช้งานจริงในอนาคตควรอยู่ที่ 30 บาท ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ (ไม่ใช่สถานีต้นทาง-สถานีปลายทาง แต่เป็นจำนวนสถานีเฉลี่ย ที่คนใช้บริการจริง เฉลี่ยประมาณ 11 สถานี)



นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(ผู้ว่าฯกทม.) กล่าวถึงประเด็น ค่าบริการส่วนต่อขยายส่วนที่สองของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ระบุไว้วานนี้ (27 มิถุนายน) ว่าราคาควรจะอยู่ที่ 59 บาท ประเด็นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน



สิ่งที่พูดเมื่อวานคือ ปัญหาตอนนี้ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ให้บริการอยู่ขณะนี้ ไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการใดๆ เปิดให้บริการฟรีอยู่ แต่ กทม.ยังต้องเสียค่าจ้างเดินรถทุกเดือน ล่าสุดสัปดาห์ กทม.เข้าพบทีมผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) มีข้อมูลเสนอมาว่า ควรจัดเก็บค่าบริการส่วนต่อขยาย ไม่ให้เกินค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ 59 บาท ดังนั้นราคา 59 บาทที่ให้ข้อมูลไป ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาวของรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เป็นแผนระยะสั้นแก้ปัญหนี้สะสมที่ค้างชำระค่าจ้างเดินรถเป็นจำนวนมาก




ผู้ว่าฯกทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตัวเลข 59 บาทที่เสนอมา ทางกทม.เอง ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครพิจารณาข้อมูลอยู่ด้วยเช่นกัน คาดว่าจะใช้สูตรการคำนวน (14+2x) ซี่ง x คือจำนวนสถานีที่ผู้โดยสารนั่ง เท่ากับค่าบริการ โดยจะไม่ให้เกินค่าบริการสูงสุดเดิมที่ระบุไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ



นายชัชชาติ ย้ำว่า ตัวเลข 59 บาท ต้องการแก้ปัญหาระยะสั้นของส่วนต่อขยาย ที่ผ่านมา กทม. ยังต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถ คิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นระยะยาวจะต้องนำเรื่องสัมปทานมาพิจารณาด้วย เพราะสัญญาจะหมดปี 2572



จากข้อมูลพบว่า รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย มีผู้ใช้บริการมากถึงร้อยละ 27 ของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั่งหมด ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร แต่คนเหล่านี้ยังนั่งฟรี ในขณะที่คนอื่นๆประชาชนทั่วไปต้องมาช่วยจ่าย เพราะต้องยอมรับว่า เงินที่ กทม.นำไปจ่ายค่าจ้างเดินรถ เป็นเงินภาษีของทุกคน ที่นำมาช่วยจ่าย จนกลายเป็นว่า คนที่ไม่ได้นั่งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ก็ต้องจ่ายเงินไปด้วย เพราะเป็นการเอาภาษีไปจ่ายแทน ค่าบริการที่ไม่ได้เก็บจากคนนั่ง



และอีกปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือคนที่ให้บริการรถสาธารณะใต้แนววิ่งรถไฟฟ้า ต่างได้รับผลกระทบเพราะรถไฟฟ้านั่งฟรี คนให้บริการด้านล่างทำมาหากินไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้านล่าง



ทั้งนี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ยังกล่าวว่าย้ำว่า 59 บาทคือราคาที่ตั้งไว้เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนต่อขยาย เป็นคนละเรื่องกับค่าบริการที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง สำหรับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่าค่าบริการรถไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 25 -30 บาทนั้น ไม่ได้หมายความว่านั่งจากสถานีต้นทาง-สถานีปลายทาง คิดราคา 25-30 บาท แต่ 25-30 บาท เป็นค่าบริการ จากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่คนใช้บริการจริง ซึ่งเดิมคิดราคาเฉลี่ย จากค่าใช้บริการ จำนวนสถานี 8 สถานี แต่ล่าสุดทางสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร ได้คำนวณราคาเฉลี่ยใหม่ โดยคิดจากค่าใช้บริการ จำนวน 11 สถานี



คุณอาจสนใจ

Related News